7 อุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย ในคลังสินค้า

สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเป็นอย่างมาก สถานที่ทำงานที่ปลอดภัยย่อมส่งผลให้พนักงานมีกำลังใจในการทำงาน การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยคำนึงถึงหลักความปลอดภัยจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำงานภายในพื้นที่คลังสินค้าที่มักจะเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวของรถยกสินค้าและรถบรรทุกมากมายหลายคัน พร้อม ๆ กับการทำงานของคนงานเพื่อขนถ่ายสินค้า สินค้าบางประเภทยังแตกหักได้ง่าย ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ซึ่งทางร้านไทยจราจรขอแนะนำให้ติดตั้งอุปกรณ์ 7 อย่างนี้ภายในคลังสินค้า เพื่อเสริมความปลอดภัยภายในพื้นที่คลังสินค้าดังต่อไปนี้

1.กรวยจราจร เป็นอุปกรณ์สำหรับงานจราจรที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่ก็สามารถนำมาเสริมความปลอดภัยในการทำงานภายในพื้นที่คลังสินค้าได้ การใช้งานกรวยนั้นง่ายและสะดวกเพราะสามารถเคลื่อนย้ายได้ตามความต้องการ มีสีสันโดดเด่นสามารถมองเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งมีความสูงตั้งแต่ 50 – 100 เซนติเมตรให้เลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสมกับขนาดของรถขนส่ง การนำกรวยมาใช้งานในคลังสินค้านั้นสามารถใช้งานตามจุดต่าง ๆ ได้มากมายไม่ว่าจะเป็นการกั้นพื้นที่จัดเก็บสินค้า หรือสินค้าที่อยู่ระหว่างการรอนำเข้าชั้นวางสินค้า การวางเพื่อควบคุมเส้นทางสัญจรของรถขนส่งสินค้าและรถบรรทุกให้เป็นระเบียบ รวมทั้งการวางเพื่อกั้นไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือรถขนส่งเข้าไปในพื้นที่ควบคุมหรือกำลังเตรียมการจัดเก็บได้อีกด้วย

2.กระจกโค้งจราจร การนำกระจกโค้งมาใช้งานจะช่วยในการเพิ่มมุมมองให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่คลังสินค้าได้ดี โดยเฉพาะภายในพื้นที่คลังสินค้าที่มักมีมุมอับจากการวางสินค้า การนำกระจกโค้งจราจรไปวางก็จะช่วยเพิ่มมุมมองให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นได้อย่างชัดเจน มีมุมมองกว้างมากขึ้น และนอกจากการติดตั้งในบริเวณพื้นที่คลังสินค้าแล้ว ยังสามารถติดตั้งเพิ่มเติมบนรถขนส่งสินค้าอย่างรถโฟล์คลิฟท์เพื่อเพิ่มมุมมองด้านหลังให้กับพนักงานที่กำลังขับขี่อยู่ได้ ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากการชนสินค้าหรือผู้ปฏิบัติงานคนอื่น ๆ ที่ยืนอยู่ด้านหลังรถขนสินค้าได้ดี

3.อุปกรณ์แสงสว่างที่เพียงพอ แสงสว่างนับเป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อความปลอดภัยในการทำงานภายในพื้นที่คลังสินค้าเป็นอย่างมาก โดยมาตรฐานแสงสว่างในที่ทำงานที่กำหนดโดยประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดเอาไว้ความเข้มของแสงสว่างในคลังสินค้าต้องมีค่าเฉลี่ยที่ 200 Lux จุดที่แสงสว่างน้อยที่สุดต้องไม่ต่ำกว่า 100 Lux ซึ่งแสดงว่าการติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงสว่างในพื้นที่คลังสินค้าควรเพียงพอกับการทำงาน ไม่ควรมีการจัดวางสิ่งของหรืออุปกรณ์กีดขวางทางเดินของแสง เพื่อประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัยของทุกคนที่อยู่ภายในพื้นที่คลังสินค้านั่นเอง

4.การติดตั้งอุปกรณ์ทนไฟตามโครงสร้างส่วนต่าง ๆ สินค้าหลากหลายชนิดมักมีลักษณะติดไฟได้ง่าย อย่างสารเคมีไวไฟ ลังกระดาษหรือลังไม้ที่ห่อหุ้มสินค้าเอาไว้ ลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้หากถูกนำมารวมกันเป็นปริมาณมาก ๆ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้เป็นโครงสร้างหรืออุปกรณ์ที่ใช้ภายในพื้นที่คลังสินค้าควรทำจากวัสดุที่ทนไฟได้ดี เพื่อลดโอกาสการเกิดอัคคีภัยให้น้อยลง สร้างความปลอดภัยทั้งต่อสินค้าและผู้ปฏิบัติงาน

5.ป้ายจราจร ภายในพื้นที่คลังสินค้าก็สามารถติดตั้งป้ายเตือนให้ผู้ปฏิบัติงานเพิ่มความระมัดระวังอย่างป้ายหยุดเพื่อมองทาง ป้ายแจ้งระดับความสูงหรือทางแคบเพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง ป้ายควบคุมเส้นทางเดินรถ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการวิ่งสวนเลน ป้ายเตือนอันตรายที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง รวมถึงป้ายบอกทางหนีไฟ และอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยเพื่อในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินแล้วจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง

6.อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล การทำงานภายในพื้นที่คลังสินค้าได้อย่างปลอดภัยนั้น นอกจากการดูแลสภาพแวดล้อมภายในคลังสินค้าให้มีความปลอดภัยแล้ว การดูแลรักษาความปลอดภัยส่วนตัวก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากันเลย โดยอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลนั้นก็มีทั้งหมวกนิรภัยเพื่อป้องกันกรณีของที่วางบนชั้นวางของด้านบนตกลงมา เข็มขัดพยุงหลังสำหรับช่วยลดการบาดเจ็บเวลายกของหนักได้ดี รองเท้านิรภัยเพื่อป้องกันการเหยียบของมีคม หรือเดินชนสิ่งของต่าง ๆ ที่วางอยู่ในคลังสินค้าได้ รวมถึงเสื้อสะท้อนแสงเพื่อให้ผู้ร่วมงานมองเห็นตัวได้สะดวกมากขึ้น เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต่อผู้ปฏิบัติงานเพราะช่วยลดอันตรายจากการทำงานได้

7.การติดสัญญาณเตือน การทำงานในคลังสินค้าช่วงที่ลงสินค้าและยกสินค้าขึ้นรถบรรทุก มักมีความวุ่นวายและพลุกพล่านไปด้วยผู้ปฏิบัติงานและเครื่องมือเครื่องจักรมากมาย ส่งผลให้ยากต่อการควบคุมการทำงานให้เกิดความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินไม่คาดฝันอย่างไฟไหม้ ก็ควรมีการนำสัญญาณเตือนมาติดตั้งไว้เพื่อความปลอดภัย อย่างเสียงไซเรนในขณะขับรถถอยหลัง หรือผ่านจุดอับที่ยากต่อการมองเห็น รวมถึงเครื่องตรวจจับควันไฟ และเสียงสัญญาณเตือนกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ เป็นต้น

การสร้างความปลอดภัยในพื้นที่คลังสินค้านอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปฏิบัติงานแล้ว ยังเป็นการลดความเสียหาย รวมถึงลดค่ารักษาพยาบาลให้แก่พนักงานเมื่อเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ด้วย ร้านไทยจราจรเห็นว่าการนำอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้ง 7 สิ่งนี้มาใช้อย่างเหมาะสมจึงมีความจำเป็นมาก และเมื่อนำมาใช้งานแล้วยังควรมีการอธิบาย ฝึกอบรม หรือทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงานอยู่เสมอด้วย เพื่อให้นำไปใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อันจะเกิดผลดีทั้งต่อตัวพนักงานเอง และเจ้าของกิจการคลังสินค้าด้วยเช่นกัน

Block "content-bottom" not found