8 วิธี การจัดเรียงสินค้าให้นับง่าย เวลาตรวจสต๊อก

การตรวจสอบสต๊อกคือสิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลคลังสินค้าจะละเลยไม่ได้เลย แต่หากว่าคลังสินค้านั้นมีการจัดเรียงที่ไม่เป็นระเบียบ สิ่งของต่างประเภท ต่างชนิดกัน วางสุมกันในชั้นเดียวจนยากจะตรวจสอบได้ว่ามีสินค้าใดเป็นจำนวนเท่าใดบ้าง ย่อมทำให้การตรวจนับสต๊อกเป็นสิ่งที่ทำให้ถูกต้องได้ยาก ดังนั้นการจัดเรียงสินค้าให้เป็นระเบียบจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดีข้อจำกัดในการจัดเรียงสินค้านั้นมีอยู่มากมาย ตั้งแต่สภาพตามธรรมชาติของสินค้า อย่างในกรณีสินค้าที่มีความบอบบางอย่าง แก้ว , กระเบื้อง หรือเครื่องประดับ ย่อมไม่สามารถจัดวางซ้อนทับกันได้หลายชั้นเพราะมีโอกาสที่จะแตกหักได้ง่าย สินค้าบางประเภทต้องการลักษณะควบคุมบรรยากาศเพิ่มเติม อย่างในกรณีอาหารสด หรือดอกไม้สด ที่จะต้องมีการควบคุมอุณหภูมิเพื่อยืดอายุการจัดเก็บให้ยาวนานมากยิ่งขึ้น รวมถึงขนาดพื้นที่ของคลังสินค้าเอง หากมีพื้นที่อันจำกัด การใช้พื้นที่ก็ต้องอาศัยอุปกรณ์เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกอย่างชั้นวางสินค้าที่มีลักษณะหลาย ๆ ชั้น หรืออุปกรณ์ช่วยการจัดเรียงอย่างรถโฟล์คลิฟท์เพื่อผ่อนแรงและลดจำนวนแรงงานที่ต้องใช้ในกรณีที่สินค้ามีน้ำหนักมาก หรือมีขนาดใหญ่ เป็นต้น ร้านไทยจราจรจึงขอแนะนำวิธีในการจัดเรียงสินค้าที่จะช่วยให้การตรวจนับสต๊อกเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกขึ้น ตามรายละเอียดต่อไปนี้

1.การแยกประเภทสินค้าให้ชัดเจน การกำหนดพื้นที่ในการจัดเรียงสินค้า นอกจากแยกชนิดของสินค้าแล้ว ควรแยกประเภทสินค้าตามรายละเอียดให้ครบถ้วนด้วย ตัวอย่างเช่น การพิจารณาว่าสินค้านั้นมีขนาด หรือปริมาณบรรจุเท่าใด เพื่อแยกการจัดเก็บให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือสินค้านั้นมีสีสันอย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่น สินค้ารถยนต์ นอกจากรายละเอียดของรุ่นและยี่ห้อแล้ว ยังมีรายละเอียดของรุ่นที่มีอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม รวมไปถึงสีของตัวถังรถยนต์ด้วย ดังนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสต๊อกและค้นหา จำเป็นต้องแยกประเภทรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ให้ดี และจัดเก็บตามช่องหรือพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งสามารถแบ่งช่องการจัดเก็บให้ชัดเจนได้ด้วยการติดยูโรเทปลงบนพื้นคลังสินค้า

2.การติดฉลาดบ่งชี้ให้ชัดเจน ป้ายบ่งชี้ที่ติดอยู่ในพื้นที่จัดเก็บสินค้านั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้การตรวจนับสต๊อกสะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนอกจากจะบ่งชี้ด้วยชื่อของสินค้าแล้ว ยังนิยมใช้เลขรหัสหรือบาร์โค้ดมาควบคุมการบ่งชี้ประเภทสินค้าด้วย ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่คลังสินค้าสามารถระบุรายละเอียดของสินค้าได้ชัดเจนและละเอียดมากยิ่งขึ้น อย่างในกรณีที่จัดเก็บสินค้าเพื่อส่งแยกไปตามพื้นที่สาขาต่าง ๆ ก็สามารถนำตัวเลขมากำหนดรหัสสาขานั้น ๆ เพื่อให้สะดวกต่อการนับจำนวนก่อนส่งไปสาขานั้น ๆ ได้ การติดป้ายบ่งชี้ที่ดี นอกจากระบุชนิดของสินค้าให้ชัดเจนแล้ว ยังควรระบุจำนวนของสินค้า วันที่นำเข้ามา หากสินค้ามีวันหมดอายุก็ควรระบุแจ้งเอาไว้ด้วยเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ

3.การจดบันทึก งานภายในคลังสินค้า การทำบันทึกสรุปยอดสินค้าที่เข้าออกในแต่ละวันนั้นมีความจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อทำการจัดเรียงสินค้าตามยอดที่แจ้งเข้ามาหรือนำออกไปแล้ว ควรตรวจนับและทำการบันทึกทันที เพื่อให้ทราบว่าในระหว่างการจัดเรียงพบเห็นสิ่งผิดปกติใด ๆ หรือไม่ เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าตกหล่น หรือนับจำนวนที่ผิดพลาดหรือไม่ ในระหว่างการตรวจนับหากเกรงว่าพนักงานท่านอื่น ๆ จะมาวุ่นวายหรือเคลื่อนย้ายจนการตรวจนับเพื่อจดบันทึกผิดพลาดก็อาจให้สัญญาณเตือนด้วยไฟหมุนได้

4.การกำหนดปริมาณสินค้าในขณะจัดเรียง วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการจัดเรียงให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพียงนับจำนวนช่องในการจัดวาง หรือช่องการวางสินค้าในชั้นวางของก็จะทำให้ทราบจำนวนของสินค้าได้ทันที ในกรณีที่สินค้ามีขนาดเล็กอย่างอุปกรณ์เครื่องมือช่างพวกน๊อตหรือสกรูอาจะต้องเพิ่มกล่องขนาดเล็กมารวบรวมเพื่อความเป็นระเบียบ สะอาดตาและการตรวจนับที่ง่ายมากยิ่งขึ้นได้

5.การทำความสะอาดและจัดระเบียบสินค้าอยู่เสมอ การทำงานในพื้นที่คลังสินค้ามักมีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ดังนั้นก็อาจทำให้มีการเคลื่อนไหวของสินค้าที่จัดเก็บเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และทันทีที่ทำการเคลื่อนย้าย เจ้าหน้าที่คลังสินค้าควรเคลื่อนย้ายสินค้านั้น ๆ ให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสม หากเกิดเศษหรือปริมาณที่ไม่เต็มจำนวนในการจัดเรียง ควรจดบันทึกและแก้รายละเอียดบนป้ายบ่งชี้ทันที หรือติดเทปสะท้อนแสงเป็นสัญลักษณ์ว่ากล่องบรรจุสินค้านี้ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น เพื่อให้การตรวจสอบสต๊อกง่ายและรวดเร็วมากขึ้น

6.การเลือกอุปกรณ์จัดวางที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจนับ นอกจากการจัดเรียงที่เป็นระเบียบจะมีความสำคัญต่อการตรวจนับสินค้าแล้ว อุปกรณ์ที่ช่วยในการจัดวางก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะทำให้มองสินค้าได้รอบด้าน ลดโอกาสความผิดพลาดที่เกิดจากการมองในขณะตรวจนับแล้วไม่เห็น หรืออุปกรณ์ที่แยกสินค้าเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระเบียบ

7.การตรวจสอบในขณะจัดเรียงสินค้า ในระหว่างการจัดเก็บสินค้า หากพบว่าสินค้ามีลักษณะชำรุด หรือมีโอกาสที่จะเสียหาย ควรตรวจสอบอย่างละเอียดทันที เพื่อทำการตัดยอดได้ทันทีและปรับสต๊อกให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด อาจกำหนดพื้นที่เพื่อการตรวจสอบด้วยขาตั้งป้ายสแตนเลสได้

8.การกำหนดผังการจัดเรียงสินค้า เพื่อให้สะดวกต่อการจัดเรียงสินค้า ควรมีการกำหนดพื้นที่การจัดเก็บเป็นสัดส่วน หากมีการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงการจัดการพื้นที่ควรทำการแก้ไขผังการจัดเรียงสินค้าใหม่ทันที เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาและจัดระบบการจัดเรียงใหม่

ร้านไทยจราจรมั่นใจว่าเมื่อจัดเรียงสินค้าต่าง ๆ เป็นระเบียบ มีการตรวจสอบอยู่เสมอก็จะทำให้การนับสต๊อกเป็นเรื่องง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น และยังเพิ่มความแม่นยำถูกต้องได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

Block "content-bottom" not found