10 วิธีการวัดผล ว่าพนักงานขับรถส่งสินค้า ของคุณมีประสิทธิภาพหรือไม่?

ในปัจจุบันการส่งสินค้าจนกระทั่งถึงมือลูกค้าถือว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยเจ้าของธุรกิจสามารถเลือกได้ว่าจะส่งสินค้าเองหรือว่าจ้างบริษัทขนส่งสินค้าภายนอกมาจัดการส่งสินค้าถึงมือลูกค้าให้แทน แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเลือกการขนส่งสินค้าแบบไหนทรัพยากรบุคคลสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ‘พนักงานขับรถ’ ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานของพนักงานขับรถมีส่วนส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัท หากขับรถดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม ปฏิบัติตามกฎหมายและ ป้ายจราจร อย่างเคร่งครัด สินค้าถึงมือปลายทางอย่างปลอดภัยก็จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความประทับใจให้กับลูกค้า ทำให้เกิดการซื้อซ้ำในครั้งต่อไปอีกด้วย ดังนั้นวันนี้ ร้านไทยจราจร จึงมี 10 วิธีการวัดประสิทธิภาพของพนักงานขับรถส่งสินค้าของคุณมาฝาก แต่จะมีวิธีไหนบ้างนั้น มาดูกันเลย

1. ประสิทธิภาพการทำงานจากแบบสอบถามหรือแบบประเมินพนักงานขับรถ 

     สำหรับวิธีนี้ทางบริษัทต้องสร้างแบบสอบถามและขอความร่วมมือจากลูกค้าเพื่อทำการตอบคำถามการทำงานของพนักงานขับรถ เช่น การแต่งกายของพนักงานขับรถและพนักงานติดรถ ความประพฤติ ความสุภาพ การตรงต่อเวลา สภาพบรรจุภัณฑ์เมื่อถึงมือลูกค้า เป็นต้น ซึ่งอาจให้ลูกค้าประเมินหลังจากได้รับสินค้าแล้วหรือทุก 3 หรือ 6 เดือน เหมาะสำหรับบริษัทหรือร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่มีเว็บไซต์ส่วนตัวเพื่อใช้ติดต่อกับลูกค้า 

2.ประเมินการทำงานจากแบบสอบถามออนไลน์

      ซึ่งเป็นวิธีที่ได้นิยมมากในปัจจุบันเนื่องจากการขยายตัวของตลาดออนไลน์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกือบทุกบริษัทต่าง ๆ พยายามสร้างช่องทางติดต่อทางออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าเห็นสินค้า สั่งซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น และทำให้การตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับพนักงานขับรถ รวมถึงพนักงานตำแหน่งอื่น ๆ ง่ายขึ้นด้วย โดยการออกแบบให้ลูกเลือกระดับตามความพึงพอใจ เช่น ดีมาก ดี ปานกลาง พอใช้ หรือควรปรับปรุง เป็นต้น หากคะแนนผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่บริษัทตั้งไว้ก็ให้ถือว่าผ่านการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน แต่ถึงอย่างนั้นควรให้ลูกค้าได้เสนอข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากคำถามที่เตรียมไว้ให้ลูกค้าตอบ ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น 

3.ติดตั้งระบบติดตามไว้ในรถส่งของ

     การติดตั้งระบบติดตามหรือระบบ GPS นั้น นอกจากจะทำให้บริษัททราบถึงสถานการณ์จัดส่งสินค้าแบบเรียลไทม์แล้ว ยังสามารถตรวจสอบพฤติกรรมของคนขับรถด้านอื่น ๆ ในระหว่างขับรถ เช่น ตำแหน่งในการหยุดรถในกรณีต่าง ๆ ระยะเวลาที่หยุดรถ ความเร็วที่ใช้ในการขับรถ เป็นต้น ซึ่งบริษัทสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบการประเมินการทำงาน พิจารณาการปรับตำแหน่งหรือเงินเดือนได้อีกด้วย 

4.ประเมินการทำงานของพนักงานจากการกระทำผิดกฎหมายจราจร

    ซึ่งการทำผิดกฎหมายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนความสามารถในการขับขี่ของพนักงานขับรถ เพราะการกระทำผิดกฎหมายที่มีค่าปรับเพียงเล็กน้อย อย่างการจอดรถในที่ห้ามจอด ขับรถทับทางม้าลายหรือ ทางเดินคนข้ามถนน ฝ่าฝืน สัญญาณไฟจราจร ก็อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นได้ 

5.ประเมินจากพฤติกรรมการทำงาน

      โดยการประเมินนั้นจะดูจากความประพฤติในการทำงาน ได้แก่ ความล่าช้าในการส่งสินค้าถึงมือลูกค้า การขาดงานโดยไม่ทราบสาเหตุ การลางานโดยไม่แจ้งเหตุผลล่วงหน้าตามเวลาที่บริษัทกำหนด หรือการมาสาย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหายให้กับระบบการทำงานของบริษัทและเป็นการเพิ่มภาระงานให้เพื่อนร่วมงานอีกด้วย 

6.สอบประเมินความรู้ด้านกฎหมายการขับขี่

     สำหรับการประเมินด้วยวิธีนี้แม้ว่าทุกบริษัทจะมีการทดสอบพนักงานขับรถตั้งแต่รับสมัครพนักงานขับรถ แต่การประเมินความรู้กฎหมายจราจรอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้พนักงานตื่นตัวและศึกษาหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ เพราะกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น ป้ายจราจร กฎหมายความเร็ว เวลาที่กำหนดในการขับขี่รถบรรทุก หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายที่กำหนดในการต่อภาษี พรบ. และประกันภัย 

7.สอบปฏิบัติขับรถทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน

    แม้ว่าการขับขี่จะเป็นความสามารถพื้นฐานของพนักงานขับรถ แต่ถึงอย่างนั้นทุกบริษัทก็ควรจะทำการประเมินความสามารถในการขับขี่และความพร้อมทางด้านร่างกายเป็นระยะ เพื่อให้การทำงานของพนักงานขับรถเป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพดีอย่างสม่ำเสมอ 

8.การดูแลรักษารถยนต์ที่ใช้ขนส่งสินค้า

     โดยปกติแล้วพนักงานขับรถจะขับขี่รถยนต์เฉพาะคัน ทำให้รถส่งของคันนั้นเป็นเสมือนทรัพย์สินที่พนักงานขับรถต้องดูแลรักษา ดังนั้นความสะอาดของเครื่องยนต์ ภายในห้องโดยสารและภายนอกรถส่งสินค้า จึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเอาใจใส่ของพนักงานขับรถและช่วยให้บริษัทประหยัดค่าดูแลรักษาอีกด้วย 

9.ประเมินความประพฤติจากการร้องเรียนพฤติกรรมการขับรถจากผู้ใช้ถนน

       นับว่าเป็นอีกหนึ่งการประเมินงานที่ได้ผลมากที่สุดอีกหนึ่งวิธี เพราะว่าบริษัทไม่อาจทราบได้ถึงพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถในขณะปฏิบัติงานจริง หากมีการร้องเรียนพฤติกรรมของพนักงานขับขี่ผู้นั้นเข้ามาเป็นจำนวนมาก บริษัทสามารถพิจารณาการเลิกจ้างเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อภาพลักษณ์ของบริษัทได้ในอนาคต 

10.พฤติกรรมด้านอื่น ๆ 

     สำหรับพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ควรนำมาประกอบการพิจารณานั้นได้แก่ อุปนิสัยส่วนตัวที่ปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงาน การดื่มสุราในระหว่างปฏิบัติการทำงาน พฤติกรรมการติดการพนัน หรือการขโมยของ เป็นต้น เพราะถึงแม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการขับขี่พาหนะขนส่งสินค้า แต่พฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่เหมาะสมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำงานร่วมกับพนักงานคนอื่นมีประสิทธิภาพด้อยลง

เป็นอย่างไรบ้างสำหรับ 10 วิธีการวัดประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานขับรถที่ ร้านไทยจราจร นำมาฝาก ซึ่งทุกบริษัทสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประเมินพนักงานขับรถของตัวเอง รับรองเลยว่าการส่งสินค้าของคุณจะมีประสิทธิภาพ สินค้าส่งถึงมือลูกค้าอย่างปลอดภัยแน่นอน 

 

Block "content-bottom" not found

Block "catalog-trafficfence" not found