รู้จักคุณสมบัติของ ถังดับเพลิง แต่ละชนิด เพื่อใช้งานได้อย่างถูกต้องยามฉุกเฉิน

                    การเกิดอัคคีภัยนับเป็นภัยที่สร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันมาก ตามบ้านเรือน อาคาร หรือสถานที่ต่าง ๆ จึงควรที่จะมีระบบป้องกันอัคคีภัยเอาไว้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ไม่คาดคิด ซึ่งเครื่องดับเพลิง หรือ ถังดับเพลิง นั้น นับเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ทุกสถานที่ควรมี แต่ ถังดับเพลิง มีหลายประเภทตามลักษณะการใช้งาน ซึ่ง ร้านไทยจราจร จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับความแตกต่างของถังสำหรับดับเพลิงแต่ละประเภท รวมถึงวิธีการนำไปใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

รู้จักกับประเภทของเพลิงไหม้จากสัญลักษณ์บนถังสำหรับดับเพลิง

 

 

     หากลองสังเกตดูบนฉลากของถังสำหรับใช้ดับเพลิง จะพบว่าจะมีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าสารเคมีในถังนั้นเหมาะสมกับการใช้ดับเพลิงไหม้ประเภทใด ซึ่งเพลิงไหม้สามารถจำแนกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้

  1. เพลิงไหม้ประเภท A 

     เป็นเพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงประเภทเชื้อเพลิงทั่วไป เช่น กระดาษ โฟม ไม้ ยาง พลาสติก ผ้า จะมีสัญลักษณ์อักษรภาษาอังกฤษตัว  A ในสามเหลี่ยมพื้นสีเขียวปรากฏอยู่บนถัง

  1. เพลิงไหม้ประเภท B

     เป็นเพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงประเภทของเหลวและก๊าซติดไฟ เช่น น้ำมันทุกชนิด แอลกอฮอล์ ทินเนอร์ ก๊าซ LPG มีสัญลักษณ์อักษรภาษาอังกฤษตัว B ในสี่เหลี่ยมพื้นสีแดงปรากฏอยู่บนถัง

 

  1. เพลิงไหม้ประเภท C

     เป็นเพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้า การลัดวงจร มีสัญลักษณ์อักษรภาษาอังกฤษตัว C ในวงกลมพื้นสีฟ้าปรากฏอยู่บนถัง

  1. เพลิงไหม้ประเภท D

     เป็นเพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงประเภทโลหะติดไฟได้ เช่น แอมโมเนียไนเตรด แมกนีเซียม ซึ่งเชื้อเพลิงประเภทนี้เมื่อติดไฟแล้วจะดับได้ยาก ไม่สามารถดับได้ด้วยน้ำ ต้องใช้สารเคมีเฉพาะ ซึ่งถังสำหรับดับเพลิงประเภทนี้จะมีสัญลักษณ์อักษรภาษาอังกฤษตัว D ในสัญลักษร์รูปดาว 5 แฉกสีเหลืองปรากฏอยู่บนถัง

  1. เพลิงไหม้ประเภท K

     เป็นเพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันที่ติดไฟยาก เช่น น้ำมันสำหรับการประกอบอาหาร ไขมันสัตว์ ซึ่งจะมีสัญลักษณ์อักษรภาษาอังกฤษตัว K ในรูปหกเหลี่ยมพื้นสีดำปรากฏอยู่บนถัง

 

 

                        สังเกตได้ว่าเชื้อเพลิงสำหรับเพลิงไหม้นั้นแบ่งออกได้หลายประเภท ปัจจุบันถังสำหรับดับเพลิงนั้นมีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าสามารถดับเพลิงได้หลายชนิด แต่เชื้อเพลิงบางชนิดก็จำเป็นต้องใช้สารเคมีแบบเฉพาะ เราจึงควรมาทำความรู้จักประเภทของเครื่องดับเพลิงแต่ละชนิดว่าแบบใดเหมาะสำหรับใช้ดับเพลิงชนิดใด เพื่อการใช้งานที่ถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที

ชนิดของเครื่องดับเพลิง

  1. ชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Chemical)

     เป็นอุปกรณ์ดับเพลิงที่พบเห็นได้ทั่วไปเนื่องจากมีความอเนกประสงค์ สามารถดับเชื้อเพลิงได้เกือบทุกประเภท ยกเว้นเชื่อเพลิงประเภท K เราจะเห็นถังชนิดผงเคมีแห้งนี้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย อาคารต่าง ๆ ที่จอดรถ เรียกได้ว่าพบได้ง่ายกว่าถังประเภทอื่น มีคุณสมบัติยับยั้งออกซิเจนไม่ให้เข้าไปผสมกับเชื้อเพลิงอันเป็นเหตุที่ทำให้ไฟลุกลาม มีวิธีการใช้งานที่ง่าย เพียงแค่ดึงสลักที่วาวล์ออกเพื่อกดไปที่หัวฉีดแล้วพ่นสารเคมีไปยังบริเวณที่มีเปลวไฟ จะทำให้ไฟดับลงอย่างรวดเร็ว แต่ถังชนิดนี้เมื่อใช้งานจะทิ้งคราบสกปรกจากสารเคมีเอาไว้มาก และเมื่อทำการใช้งานแล้วแรงดันภายในถังจะน้อยลง ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้งานครั้งต่อไปลดลง และนอกจากนี้แม้จะไม่มีการใช้งาน แรงดันภายในถังก็ยังจะลดลงตามระยะเวลาเช่นกัน จึงต้องหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ หากพบว่าเกจแสดงแรงดันภายในถังลดลงถึงขีดสีแดง ต้องนำถังไปบรรจุสารเคมีใหม่ทันที ไม่เช่นนั้นแล้วหากเกิดเพลิงไหม้แล้วอุปกรณ์ไม่พร้อมใช้งาน ก็จะไม่สามารถระงับเหตุได้ทัน และหากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นจนสามารถระงับเหตุได้ทันแล้ว ควรที่จะต้องปิดกั้นพื้นที่เอาไว้ อาจจะติด ป้ายห้ามเข้า เอาไว้เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำการสำรวจความเสียหายและป้องการกันการเหตุอันตรายอื่นซ้ำในพื้นที่เพลิงไหม้

 

 

  1. ชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

     ภายในบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ในถัง เมื่อฉีดออกจากถังจะมีลักษณะเย็นจัด ช่วยลดความร้อนของเปลวไฟ มีคุณสมบัติที่ดีคือไม่ฟุ้งกระจายและไม่ทิ้งคราบสกปรกเอาไว้เมื่อใช้งานเสร็จ แต่ถังชนิดนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าถังชนิดอื่น มีน้ำหนักมากเพราะต้องใช้วัสดุผลิตตัวถังที่หนาเพื่อทำให้สามารถรับแรงดันจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ภายในได้ นิยมใช้ตามสถานที่ที่มีเครื่องจักร โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องรักษาอุปกรณ์ไม่ให้เกิดความเสียหายจากถังแบบสารเคมีแห้ง

  1. ชนิดสารเหลวระเหย Halotron

     เป็นสารที่มีความเย็นจัด เมื่อใช้งานจะระเหยกลายเป็นไอในทันที ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้าจึงไม่สร้างความเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า และไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังใช้งาน ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องการความสะอาดสูง เช่น อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล ห้องที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก ห้องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

 

 

  1. ชนิดโฟม

     เป็นถังที่บรรจุสารเคมีประเภทโฟมเอาไว้ เมื่อทำการใช้งานจะมีลักษณะเป็นเนื้อโฟมปกคลุมเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ให้ดับลง และโฟมยังเคลือบวัสดุที่สามารถติดไฟเอาไว้ไม่ให้เกิดการปะทุแล้วเกิดเพลิงไหม้ซ้ำขึ้นมาได้อีก เหมาะสำหรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมที่มีวัสดุติดไฟง่าย แต่ข้อควรระวังคือเครื่องดับเพลิงชนิดโฟมนี้ห้ามนำไปใช้ดับเพลิงไหม้ประเภท  C ที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเด็ดขาด เนื่องจากเป็นสื่อนำไฟฟ้า 

การดูแลอุปกรณ์ดับเพลิงให้มีความเหมาะสม

     อย่างที่เราทราบกันว่าการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงเอาไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ จะช่วยให้บรรเทาความเสียหายจากเหตุอัคคีภัยได้ ซึ่งเราต้องมีการดูแลรักษาให้สามารถใช้งานได้ง่ายและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ดังนี้

 

 

  1. ติดตั้งในจุดที่ใช้งานได้ง่าย

     การติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงนั้นต้องติดตั้งในจุดที่มองเห็นได้ง่ายพร้อมที่จะนำมาใช้งานได้ตลอดเวลา อาจจะติดตั้งเอาไว้บนผนังและมีป้ายบอกเอาไว้ให้เห็นเด่นชัด หรือจะติดตั้งอยู่ในตู้เก็บเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อป้องกันถังไม่ให้เกิดความเสียหาย ซึ่งต้องมี ป้ายเตือน ไม่ให้ผู้ใดนำสิ่งของมาวางกีดขวางบริเวณหน้าจุดติดตั้ง หรืออาจจะนำ กรวยจราจร ตั้งวางเป็นสัญลักษณ์ป้องกันเอาไว้ก็ได้

  1. ตรวจสอบสภาพให้พร้อมใช้งาน 

     จุดที่ต้องมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เช่น เกจวัดแรงดันภายในถัง ซึ่งจะสังเกตได้จากเข็มที่หน้าปัด ถ้าเข็มวัดแรงดันลดต่ำมาถึงขีดสีแดงแสดงว่าถังนั้นไม่มีแรงดันพอที่จะใช้งาน จะต้องนำถังไปเติมแรงดันในทันที สาเหตุที่ส่งผลทำให้แรงดันภายในถังลดลงเนื่องมาจากการที่มีการใช้งานถังสำหรับดับเพลิงแล้วครั้งหนึ่ง หรือมาจากการที่ถังมีอายุนานแล้วแม้จะไม่มีการใช้งานก็ตามที แต่แรงดันก็จะลดลงเรื่อยๆตามอายุของถัง นอกจากนี้แม้จะไม่มีการใช้งานก็ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพของถังให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอ ถังต้องไม่มีรอยบุบ ไม่ขึ้นสนิม สายและหัวฉีดอยู่ในสภาพดีไม่อุดตัน หากถังมีรอยบุบอาจจะมีสาเหตุจากการติดตั้งที่ไม่แน่นหนาจนหล่นกระแทกพื้น สายฉีดถูกสัตว์ประเภทหนูกัดแทะ ต้องเปลี่ยนใหม่ทันที

 

 

  1. เปลี่ยนถังใหม่เมื่อครบอายุการใช้งาน

     แม้ว่าจะไม่มีการใช้งาน แต่ถังสำหรับดับเพลิงนั้นก็มีอายุการใช้งานเช่นกัน สำหรับถังชนิดเคมีแห้งแล้ว ควรเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 3-5 ปี ส่วนถังประเภทสารเหลวระเหย Halotron มีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี การละเลยที่จะเปลี่ยนถังใหม่ อาจจะทำให้ถังใช้งานไม่ได้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ รวมถึงอาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานถังที่มีความชำรุดได้

                                 อุปกรณ์ดับเพลิงนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนตนเอง ผู้ประกอบการ เจ้าของอาคาร หรือแม้แต่ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านความปลอดภัย เช่น เจ้าหน้าที่กู้ภัย อปพร. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่เสี่ยง การมีอุปกรณ์ป้องกันเหตุอัคคีภัยจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถใช้งานอุปกรณ์ดับเพลิงได้อย่างถูกต้อง อันจะเป็นการช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดได้ สำหรับคนทั่วไปการลงทุนซื้อถังสำหรับดับเพลิงติดบ้านไว้สักเครื่อง นับเป็นการลงทุนเพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินรวมถึงคนที่เรารักอย่างคุ้มค่าที่สุด

 

ที่มาข้อมูล : 

fire traffic