เรื่องต้องรู้ในการติดตั้ง ถังดับเพลิง ภายในห้างสรรพสินค้า

fire

           ห้างสรรพสินค้าเป็นสถานที่ที่รวมคนจำนวนมากไว้ด้วยกัน จึงจำเป็นต้องติดตั้ง ถังดับเพลิง เพื่อไว้ใช้ในกรณีที่มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้น ซึ่งข้อกฎหมายในการติดตั้ง ถังดับเพลิง เพื่อป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารทั่วไปมีส่วนที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ

          โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งเราจะนำเสนอในส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงให้เข้าใจถึงรายละเอียดกัน 

กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) 

            ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ระบุไว้ในหมวด 2 ระบบระบายอากาศ ระบบไฟฟ้า และระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอย่างอื่น มีใจความโดยสรุปว่า

           ในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทุกชั้น โดยอย่างน้อยต้องมี อุปกรณ์ส่งสัญญาณที่สามารถส่งสัญญาณให้คนในอาคารรับรู้ได้ทั่วถึง และมีอุปกรณ์แจ้งเหตุที่มีทั้งระบบอัตโนมัติและระบบสั่งการโดยใช้มือเพื่อให้อุปกรณ์ส่งสัญญาณเริ่มทำงาน

  • อาคารสูงตามกฎกระทรวงนี้ หมายถึง อาคารที่มีความสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 23 เมตร ซึ่งเทียบได้กับตึกประมาณ 8 ชั้น และอาคารขนาดใหญ่พิเศษหมายถึง อาคารที่มีพื้นที่รวมกันมากกว่า 10,000 ตารางเมตร 
  • อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีระบบป้องกันเพลิงไหม้ซึ่งประกอบด้วยระบบท่อยืน ที่เก็บน้ำสํารอง และหัวรับน้ำดับเพลิง โดยรายละเอียดระบุอยู่ในข้อ 18 หมวด 2 ตามกฏกระทรวงนี้
  • อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ นอกจากต้องมีระบบป้องกันเพลิงไหม้ตามข้อ 18 แล้ว ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือหรือ ถังดับเพลิง ตามชนิดและขนาดที่เหมาะสมสําหรับใช้ดับเพลิงที่เกิดจากประเภทของวัสดุที่มีในแต่ละชั้น 
  • กำหนดให้มีหนึ่งเครื่องต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง
  • การติดตั้งเครื่องดับเพลิงต้องติดตั้งให้ส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.50 เมตร ในที่มองเห็นได้ชัด สามารถอ่านคำแนะนำการใช้งานและนำออกมาใช้งานได้อย่างสะดวก
  • เครื่องดับเพลิงแบบมือถือต้องมีขนาดบรรจุสารเคมีไม่น้อยกว่า 4 กิโลกรัม เช่น เครื่องดับเพลิงชนิด CO2 ขนาด 10 ปอนด์

กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) 

ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ระบุไว้ในหมวด 1 แบบและวิธีการเกี่ยวกับการติดตั้งระบบการป้องกันอัคคีภัยมีใจความว่า

  • อาคารที่ต้องมีวิธีเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยประกอบด้วย ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว บ้านแฝด อาคารที่ใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชน เช่น โรงพยาบาล โรงมหรสพ ห้องประชุม และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น อาคารที่อยู่อาศัยมากกว่าเท่ากับ 4 หน่วย และหอพัก และอาคารอื่น ๆ นอกเหนือจากอาคารข้างต้น ที่สูงมากกว่า 3 ชั้น 
  • ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝด ที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ ตามชนิดและขนาด ที่กำหนดไว้ในตารางที่ 1 ท้ายกฎกระทรวงนี้ จำนวนคูหาละ 1 เครื่อง
  • อาคารอื่นนอกจากห้องแถว ตึกแถว บ้านแถวและบ้านแฝด ที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้งถังดับเพลิงตามชนิดและขนาดที่กำหนดไว้ตามตารางที่ 1 เช่นเดียวกัน โดยมีระยะกำหนดไว้เช่นเดียวกับกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ที่กำหนดให้ 1 เครื่องต่อพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร และไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง
  • ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝดที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องมีระบบสัญญาณแจ้งเตือนเพลิงไหม้ ติดในอาคารอย่างน้อย 1 เครื่อง ในแต่ละคูหา และหากมีความสูงเกิน 2 ชั้น ต้องติดอย่างน้อย 1 เครื่องในทุกชั้นและทุกคูหา 
  • อาคารอื่น ที่มีพื้นที่รวมกันในหลังเดียวกันมากกว่า 2,000 ตารางเมตร ต้องมีระบบแจ้งเตือนสัญญาณเพลิงไหม้ทุกชั้น
  • อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้น และอาคารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นเกิน 2,000 ตารางเมตร จะต้องมี ป้ายบอกชั้นและป้ายบอกทางหนีไฟ ซึ่งมีขนาดตัวอักษรใหญ่กว่าหรือเท่ากับ 10 เซนติเมตร โดยติดให้อยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน และมีแสงสว่างจากระบบไฟฟ้าฉุกเฉินที่ช่วยให้มองเห็นได้ในขณะที่เกิดเพลิงไหม้ด้วย 

กฎกระทรวง พ.ศ. ๒๕๕๕

         กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย โดยในหมวด 3 การดับเพลิง ระบุไว้ว่า 

  • ให้นายจ้างจัดให้มีระบบน้ำดับเพลิงและอุปกรณ์ที่สามารถใช้ดับเพลิงขั้นต้นในทุกส่วนของอาคารได้อย่างเพียงพอ
  • หากท่อน้ำดับเพลิงของทางราชการบริเวณอาคารประกอบการมีไม่เพียงพอ ต้องจัดเตรียมปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในการดับเพลิง โดยอัตราส่วนปริมาณน้ำสำรองต่อพื้นที่อาคารได้กำหนดไว้ในตารางที่ 1 ท้ายกฎกระทรวงนี้ 
  • ต้องมีการตรวจสอบระบบการส่งน้ำ ที่กักเก็บน้ำ เครื่องสูบน้ำดับเพลิง และการติดตั้ง โดยวิศวกรตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร และต้องป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากเพลิงไหม้ ยานพาหนะและสิ่งอื่น ๆ 
  • ข้อต่อรับน้ำดับเพลิงเข้าอาคารและข้อต่อส่งน้ำภายในอาคารจะต้องเป็นระบบเดียวกับที่หน่วยดับเพลิงของทางราชการในท้องถิ่นใช้งานอยู่และต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานเสมอ
  • สายส่งน้ำดับเพลิงต้องมีความยาวเพียงพอที่จะควบคุมเพลิงไหม้ในบริเวณนั้นได้

ให้นายจ้างจัดให้มีเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้ 

  • จัดให้มีเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ ตามประเภทของการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งต้องได้มาตรฐานตามที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนด เช่น เครื่องดับเพลิงสแตนเลส Foam CO2 ขนาด 9 ลิตร (20 ปอนด์) 
  • ต้องติดเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่ถังดับเพลิง เพื่อระบุว่าเป็นสารดับเพลิงชนิดใด ใช้ดับเพลิงประเภทใด โดยขนาดของเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต้องมองเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร 
  • ห้ามใช้เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ที่อาจเกิดสารพิษจากไอระเหย เช่น คาร์บอนเตตระคลอไรด์ 
  • จัดให้มีเครื่องดับเพลิงตามความสามารถของเครื่องดับเพลิงและการติดตั้ง โดยกำหนดไว้ในตาราง ท้ายกฎกระทรวงนี้
  • ต้องมีการดูแลรักษาและตรวจสอบให้เครื่องดับเพลิงมีความพร้อมใช้งาน ไม่น้อยกว่าหกเดือนต่อหนึ่งครั้ง พร้อมกับติดป้ายแสดงผลการตรวจสอบและวันที่ตรวจสอบครั้งสุดท้ายไว้ด้วย 
  • ในสถานที่ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยอย่างร้ายแรงหรือปานกลาง ต้องจัดให้มีระบบน้ำดับเพลิงและอุปกรณ์ที่ใช้ในการดับเพลิง และเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ ส่วนในสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยอย่างเบา จะจัดให้มีเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายอย่างเดียวก็ได้ 
  • ต้องติดตั้งป้ายแสดงจุดเก็บอุปกรณ์ดับเพลิงให้เห็นอย่างชัดเจน 
  • สามารถนำอุปกรณ์ดับเพลิงออกมาใช้ได้สะดวกตลอดเวลา 
  • ดูแลอุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา 
  • ถ้าสถานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยอย่างร้ายแรงหรือปานกลาง ต้องจัดเจ้าหน้าที่ดับเพลิงประจำอยู่ตลอดเวลาที่มีการทำงาน และมีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างเพียงพอด้วย 
  • “สถานที่ซึ่งมีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยอย่างเบา” หมายความว่า สถานที่ที่มีวัตถุซึ่งไม่ติดไฟเป็นส่วนใหญ่ หรือมีวัตถุติดไฟได้ในปริมาณน้อยหรือมีวัตถุไวไฟในปริมาณน้อยที่เก็บไว้ในภาชนะปิดสนิทอย่างปลอดภัย
  • “สถานที่ซึ่งมีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยอย่างปานกลาง” หมายความว่า สถานที่ที่มีวัตถุไวไฟ หรือวัตถุติดไฟได้ และมีปริมาณไม่มาก
  • “สถานที่ซึ่งมีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยอย่างร้ายแรง” หมายความว่า สถานที่ที่มีวัตถุไวไฟ หรือวัตถุติดไฟได้ง่าย และมีปริมาณมาก

กฎกระทรวง ฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2564)

  • อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีทางเข้าสำหรับบุคคลภายนอกเพื่อเข้าไปบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นได้ทุกชั้น
  • อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับยานพาหนะในการปฏิบัติการด้านความปลอดภัย ได้แก่ รถดับเพลิงอย่างน้อย 1 คัน และรถพยาบาลหรือรถหน่วยการแพทย์ฉุกเฉินอย่างน้อย 1 คัน 
  • อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องติดตั้ง เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ Philips FRx Defibrillator ที่มีขายในร้านไทยจราจร 

          เมื่อเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นแล้วสามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็ว การจัดเตรียมระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารทั่วไป เช่น ห้างสรรพสินค้า จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำตามกฎหมายกำหนด ซึ่งเมื่อประเมินสถานการณ์หน้างานแล้ว ก็อาจติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมหรือเตรียมพร้อมมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ได้          เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างรวดเร็วและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดตามมา เป็นหนึ่งใน วิธีลดอุบัติเหตุ ต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมาจากเหตุการณ์ได้ด้วย และหากต้องการเลือกซื้อ ถังดับเพลิง สำหรับติดตั้งเพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้หรืออุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยต่าง ๆ ก็สามารถเลือกซื้อที่เว็บไซต์ร้านไทยจราจร https://trafficthai.com/shop/ 

ที่มาข้อมูล

  • https://download.asa.or.th/03media/04law/cba/mr/mr35-33-upd69.pdf
  • https://download.asa.or.th/03media/04law/cba/mr/mr37-39-upd63.pdf
  • https:/ /www.shecu.chula.ac.th/data/boards/525/กฎกระทรวง%20ระงับอัคคีภัย%202555.pdf
  • http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2022/5/27409_1_1653534551017.pdf
fire