แม้คนคนหนึ่งจะพิการทางสายตา ทว่าเขาสามารถพัฒนาศักยภาพอื่น ๆ ขึ้นมาทดแทนได้ หากผู้ที่ดูแลคนตาบอดทำทุกอย่างให้เขา เขาก็จะไม่สามารถพัฒนาศักยภาพนี้ กระทั่งนำไปสู่การหมดความภูมิใจในตนเองในที่สุด ดังนั้นวิธีที่ถูกต้องในการดูแลคนพิการทางสายตา ที่ร้านไทยจราจรจะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ จึงเป็นวิธีทำให้คนพิการทางสายตาช่วยเหลือตัวเองได้นั่นเอง
1. การช่วยให้คนพิการทางสายตาดูเวลาเองได้
คนตาบอดอาจต้องถามเวลากับผู้อยู่ใกล้ชิดบ่อย ๆ คุณอาจใช้วิธีถอดหน้าปัดนาฬิกาออกจากนาฬิกาข้อมือให้เขาสวมเอาไว้ เขาก็จะสามารถใช้นิ้วมือคลำดูเข็มหน้าปัดนาฬิกาเองได้ หรืออาจใช้แอพลิเคชันเสียงบอกเวลาจากสมาร์ทโฟนให้คนตาบอดกดดูเองก็ได้
2. แอพพลิเคชั่นสำหรับคนพิการทางสายตา
ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นมากมายที่รองรับคนพิการทางสายตา โดยเฉพาะไมโครโฟนของแป้นพิมพ์ที่คนตาบอดสามารถพูดใส่สมาร์ทโฟนแล้วสมาร์ทโฟนจะเปลี่ยนเสียงพูดเป็นตัวอักษร นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชันที่ช่วยอ่านตัวอักษรบนหน้าจอให้คนเขาฟังอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีโปรแกรมแชทอีกมากมายที่รองรับการอัดคลิปเสียงในระยะสั้นและส่งข้อความเสียงได้เช่นเดียวกับการพิมพ์ ผู้พิการทางสายตาจึงไม่ถูกกีดกันออกจากโลกโซเชียลอีกต่อไป
3. จัดวางสิ่งของในบ้านให้เป็นระเบียบ
เพื่อที่จะให้คนพิการทางสายตาช่วยเหลือตัวเองได้ จำเป็นจะต้องจัดบ้านให้เป็นระเบียบ สิ่งของต่าง ๆ ควรมีที่เก็บประจำ เพื่อให้คนตาบอดจดจำตำแหน่งของสิ่งของ และสามารถหยิบของใช้ได้เอง ไม่ควรเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เพราะอาจทำให้ผู้พิการทางสายตาชนจนบาดเจ็บได้ หากต้องการเคลื่อนย้ายจะต้องจูงผู้พิการทางสายตาไปบริเวณนั้นและจับมือของเขาไปสัมผัสกับเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้เขาจดจำตำแหน่งได้ ในพื้นที่ที่มีการวางของเกะกะบนพื้น ควรใช้เทปกั้นเขตเพื่อให้คนตาบอดทราบและไม่เข้าไปในสถานที่นั้น ๆ
4. การช่วยให้ผู้พิการทางสายตาทำงานบ้าน
การทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาฝึกทักษะในการดำรงชีวิตภายในบ้าน ในการใช้เครื่องซักผ้า เตาแก๊ส หม้อหุงข้าว ไมโครเวฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ควรนำผู้พิการทางสายตาไปที่เครื่องดังกล่าว แล้วนำมือของเขาไปสัมผัส เอ่ยชื่อปุ่มแต่ละปุ่มว่าใช้ทำอะไร ทำซ้ำจนกว่าผู้พิการทางสายตาจะจดจำได้ ในการตวงผงซักฟอกควรช่วยเทผงซักฟอกใส่มือผู้พิการเพื่อเขาจะได้จดจำปริมาณที่ต้องใช้ต่อครั้งได้ ในการตวงข้าวสารควรให้ผู้พิการทางสายตากำข้าวสารด้วยมือ แล้วบอกคนพิการว่าต้องใช้กี่กำมือในการหุงแต่ละครั้ง
5. ใช้แผ่นปิดจมูกบันไดกันลื่น
เพื่อให้คนพิการทางสายตาขึ้นลงบันไดบ้านได้เองอย่างปลอดภัย ควรใช้แผ่นปิดจมูกบันไดกันลื่น โดยควรเลือกใช้แผ่นปิดจมูกบันไดกันลื่นที่ทำจากไฟเบอร์กลาสเพื่อความแข็งแรงทนทาน ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ไม่เพียงแต่บันไดเท่านั้น แม้แต่ขอบปูนที่ผู้พิการทางสายตาจะต้องก้าวเท้าขึ้นหรือลงก็ควรใช้แผ่นปิดจมูกบันไดกันลื่นด้วย
6. ใช้กระเบื้องปูพื้นคนพิการ
กระเบื้องปูพื้นคนพิการมีอยู่ด้วยกัน 2 ลาย ลายทางนอนใช้ปูทางเดินเพื่อบอกให้เดินไปตามทาง ส่วนลายจุดใช้บอกว่าสิ้นสุดท้ายหรือเป็นบริเวณที่ต้องเปลี่ยนผ่าน เช่น เข้าหรือออกประตู สำหรับบ้านที่มีสวนหย่อมควรปูทางเดินด้วยกระเบื้องลายทางนอน และปูลายจุดเมื่อสิ้นสุดหรือเริ่มต้นทาง นอกจากนี้ยังควรปูกระเบื้องลายจุดไว้หน้าและหลังประตูเพื่อให้คนพิการทางสายตาทราบด้วย
7. การจัดสิ่งของให้คนพิการทางสายตาเมื่อต้องเดินทาง
หากผู้พิการทางสายตาต้องออกจากบ้านคนเดียว ควรจัดเสื้อผ้าสีสว่างให้กับผู้พิการทางสายตา เพื่อให้ผู้คนที่สัญจรไปมามองเห็นได้ง่าย และควรจะต้องจัดแว่นกันแดดให้ผู้พิการทางสายตาด้วย เพราะเมื่อเดินฝ่าแดด คนพิการทางสายตาจะไม่ทราบว่ามีแสงจ้าจึงไม่หยีตา ไม่หลับตา ทำให้รังสียูวีเข้าไปทำลายดวงตาของผู้พิการได้ นอกจากนี้แว่นกันแดดยังช่วยให้ผู้คนที่สัญจรไปมาทราบว่าคน ๆ นี้เป็นผู้พิการทางสายตา จะได้ระมัดระวังไม่เดินชน หรืออำนวยความสะดวกเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยเฉพาะการช่วยเดินข้ามถนน
8. การจูงคนพิการทางสายตาเดินข้ามถนน
วิธีจูงที่ถูกต้องคือให้ผู้พิการทางสายตาจับเหนือข้อศอก โดยหัวแม่มือจะอยู่ด้านนอก อีก 4 นิ้วอยู่ด้านในแขน ผู้จูงต้องเดินนำหน้า อย่าดันคนตาบอดให้เดินนำเด็ดขาด ตำแหน่งที่ถูกต้องคือผู้พิการทางสายตาจะต้องอยู่เยื้องไปทางด้านหลังของผู้จูงประมาณครึ่งก้าว ควรรักษาระดับความเร็วในการเดินอย่างสม่ำเสมอ หากหยุดกะทันหันจะต้องบอกล่วงหน้าไม่อย่างนั้นผู้พิการทางสายตาอาจชนกับผู้จูงได้ การก้าวขึ้นและลงบาทวิถีจะต้องหยุดก่อนขึ้นหรือลงแล้วบอกผู้พิการทางสายตาว่ากำลังจะขึ้นหรือลงบาทวิถี
ร้านไทยจราจรหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากที่ปรับสภาพภายในบ้านให้ปลอดภัย ตลอดจนปรับวิธีการดูแลคนพิการทางสายตาอย่างถูกต้องตามที่ได้กล่าวมาทั้ง 8 ข้อนี้แล้ว จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการทางสายตาดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย