อย่าลืม 10 ข้อนี้ ถ้าต้อง”วางแผนหนีไฟ”

สาเหตุอันตราย

อัคคีภัย เมื่อพูดถึงสิ่งนี้ เชื่อว่าใครหลายคนคงไม่อยากจะเจอแน่ๆ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมาแต่ละที นั่นหมายความว่าทรัพย์สินมีค่าของคุณจะต้องวอดวายไปไม่น้อยกว่า 20% แถมถ้าหากคุณและครอบครัวติดอยู่ในสถานที่ที่เกิดเพลิงไหม้ ก็มีโอกาสที่จะได้รับอันตรายถึงชีวิต ด้วยสาเหตุจากการสำลักควัน ความร้อนจากไฟ หรือถูกไฟคลอกได้ อย่างไรก็ตาม คุณเองคงไม่มีทางรู้ได้แน่ๆ ว่าในอนาคตจะเกิดเพลิงไหม้ขึ้นในสถานที่ที่ตนอยู่หรือเปล่า บางครั้งถึงแม้คุณจะจัดการสิ่งที่อาจเป็นต้นเพลิงในบ้านไปหมดแล้ว แต่เมื่อถึงวันใดวันหนึ่ง เกิดมีโคมลอย พลุ ประทัด ปลิวจากที่ไหนก็ไม่รู้เข้ามาในอาคารบ้านคุณ ก็มีโอกาสที่จะเกิดเพลิงไหม้ได้เช่นกัน ดังนั้น ร้านไทยจราจรขอแนะนำว่า คุณอย่าคิดว่าที่ๆ คุณอยู่จะปลอดภัยจากไฟไหม้ 100% ให้เตรียมวางแผนหนีไฟไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่า เพื่อที่หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา จะได้เอาตัวรอดได้

การวางแผนหนีไฟ ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แค่คุณเตรียมการหาทางหนีทีไล่ไว้เมื่อเกิดเพลิงไหม้ก็เป็นอันใช้ได้ แต่ด้วยความที่สถานที่แต่ละแห่งมีปัจจัยที่แตกต่างกัน ทำให้ในการวางแผนหนีไฟ คุณต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาร่วมกันด้วย และนี่ก็คือ 10 ข้อ สิ่งที่คุณต้องไม่ลืมเมื่อจะเตรียมการหนีไฟ

                 1.ทางเข้าออกอาคาร

                        ปัจจัยแรกที่คุณต้องพิจารณาเสมอเมื่อวางแผนหนีไฟ ลองพิจารณาอาคาร หรือบ้านของคุณว่ามีทางออกกี่ทาง ทางใดบ้างที่ใช้เป็นทางออกฉุกเฉิน ใช้เป็นบันไดหนีไฟได้ แล้วเตรียมพร้อมให้ทางออกนั้นสามารถใช้การได้อยู่เสมอ ไม่ล็อกแบบปิดตาย และอย่าลืมติดตั้งถังดับเพลิงไว้ตามจุดต่างๆ ระหว่างทางนั้นด้วย เพื่อที่หากเกิดปัญหาขึ้นมา เช่น เปลวไฟลามมาขวางทาง จะได้มีอุปกรณ์ไว้ช่วยเปิดทางสำหรับออก

                2.โครงสร้างอาคาร

                      จะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นอาคารที่ภายในมีเพดานกว้าง โปร่ง เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นไฟจะลามได้อย่างรวดเร็วเพราะอากาศเข้าไปได้เยอะ หรือถ้าเป็นอาคารที่มีลักษณะเพดานแคบและทึบ ความร้อนและควันไฟจะมาก อย่าลืมพิจารณาโครงสร้างของอาคาร เพื่อที่คุณจะได้วางแผนหนีไฟได้อย่างเหมาะสม

                3.ความร้อน

                      อย่าคิดว่าการเผชิญความร้อนภายในอาคารที่เกิดเพลิงไหม้แล้วจะไม่เป็นไร เพราะโดยปกติ ร่างกายของมนุษย์จะทนสภาพอากาศที่มีความร้อนได้แค่ 150 องศาเซลเซียส หากมากกว่านั้น ระบบทางเดินหายใจจะถูกทำลาย ส่งผลให้หมดสติและเสียชีวิตเนื่องจากสำลักควันหรือถูกไฟคลอกได้ ดังนั้นคุณควรเตรียมห้องเพื่อใช้หลบภัยกรณีเกิดเพลิงไหม้ด้วย เพื่อที่เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา คุณจะได้หลบความร้อนซึ่งเกิดจากไฟได้

                 4.ควันไฟ

                        แน่นอนที่สุดว่าเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น จะต้องเกิดควันไฟขึ้นอย่างมหาศาล หากเป็นอาคารสูง สมมติว่าเกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ชั้น 2 ควันไฟอาจปกคลุมขึ้นไปจนถึงชั้น 5 ได้เลย ซึ่งในควันไฟจะมีก๊าซจำพวกคาร์บอนไดออกไซต์ คาร์บอนมอนอกไซต์ หากสูดดมเข้าไปจะส่งผลให้หมดสติได้ ในการวางแผนหนีไฟ คุณควรนึกถึงการเตรียมการป้องกันควันไฟด้วย

                 5.อุปกรณ์เตือนภัยและช่วยชีวิตชนิดต่างๆ

                       โดยปกติ ในอาคารสูงหรือบ้านขนาดใหญ่ ควรมีการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย และอุปกรณ์ช่วยชีวิตไว้ในเบื้องต้น อย่างเช่นกริ่งเตือนเพลิงไหม้ , หัวฉีดน้ำเพื่อสกัดเพลิง , ถังดับเพลิง , เครื่องดูดควัน เป็นต้น ก่อนวางแผนหนีไฟ ควรตรวจสอบสภาพเครื่องเหล่านี้ให้ใช้การได้เสมอ

                  6.ระยะเวลาที่สามารถวิ่งจากจุดที่ตนอยู่ ปยังทางออกฉุกเฉินได้

                        ปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในเวลาที่วางแผนหนีไฟ ก็คือ ไม่มีการจัดสรรเวลาที่ดี เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น กว่าจะไปถึงทางหนีไฟได้ก็กินเวลาหลายนาที บางคนไม่รู้เส้นทางว่าสามารถวิ่งไปตามทางลัดได้ ก็ใช้ทางปกติที่ทั้งอ้อมและวกวน ในขณะที่ไฟก็ค่อยๆ ลามขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เมื่อต้องการวางแผนหนีไฟ ขอให้คุณเตรียมการบริหารจัดการเวลาให้ดีด้วย

                  7.ความมืด

                        เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น แน่นอนที่สุดว่าระบบไฟฟ้าในอาคารจะดับลง มีแต่ความมืด ควัน และแสงจากเปลวไฟเท่านั้น หลายคนที่ต้องเข้าไปติดอยู่ในอาคารที่ไฟกำลังไหม้ มักประสบปัญหาหาทางออกไม่เจอ เพราะจำเส้นทางไม่ได้ วิธีป้องกันปัญหานี้ก็คือ ควรหมั่นซักซ้อมการหนีไฟบ่อยๆ เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในบ้านหรืออาคารนั้นจำเส้นทางได้แม่นยำ ช่วยให้ประหยัดเวลาเมื่อสถานการณ์จริงมาถึง

                8.ภาวะแตกตื่น

                      ด้วยความที่เหตุเพลิงไหม้นี้ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิตอย่างหนึ่ง ใครหลายคนจึงมักมีภาวะแตกตื่น ควบคุมสติของตัวเองไม่ได้ เมื่อรู้ว่าไฟกำลังจะลามมาถึงก็วิ่งหนีเอาตัวรอดตามสัญชาตญาณของตนเอง แทนที่จะรอด กลับยิ่งทำให้ติดเข้าไปในอาคารลึกขึ้น วิธีป้องกันก็คือต้องซักซ้อมบ่อยๆ เช่นกัน

               9.สิ่งกีดขวางต่างๆ ภายในอาคาร

                      เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ บางครั้งสิ่งของเหล่านี้ก็กลายเป็นอุปสรรคทำให้การหนีไฟเสียเวลามากขึ้น ยิ่งถ้าสิ่งของเหล่านี้ถูกไฟไหม้ไปด้วย ก็จะกลายเป็นสิ่งกีดขวางที่ทำให้หนีออกไม่ได้เข้าไปใหญ่ ดังนั้นในการวางแผนหนีไฟ อย่าลืมคำนึงถึงสิ่งของภายในอาคารด้วย

               10.ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการหนีไฟ

                     ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เนื่องจากหลายคนยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการหนีไฟอยู่ เช่น เข้าใจว่ายิ่งหนีขึ้นไปบนชั้นสูงๆ แล้วจะรอด หรือบางคนคิดว่าการกระโดดลงมาจากตึก จะทำให้รอดชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ได้ เป็นต้น การกระทำเหล่านี้นอกจากจะไม่ช่วยให้มีโอกาสมีชีวิตรอดเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอีกด้วย ร้านไทยจราจรจึงขอแนะนำว่า ควรให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ที่อยู่ในบ้านหรืออาคารทุกคน เพื่อให้มีโอกาสรอดเมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินมาเยือนมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่ทุกคนควรพกติดตัวตลอดเวลาคือ ‘สติ’ สิ่งนี้จะช่วยให้คุณรอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้ได้ เมื่อต้องประสบเหตุ ควรใช้สติพิจารณาสิ่งที่ต้องทำและทุกครั้งที่ไปยังสถานที่ใหม่ ๆ สิ่งแรกที่ต้องทำคือให้เดินสำรวจสถานที่นั้น ๆ ว่ามีบันไดหนีไฟทางไหน มีทางเข้าออกกี่ทาง ลองเปิดประตูหนีไฟว่าเปิดใช้งานได้หรือไม่ ถังดับเพลิงติดตั้งอยู่ที่ใด เผื่อว่าเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นมา จะได้รู้จุดต่าง ๆ เหล่านี้และนำมาแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน

fire traffic

Block "content-bottom" not found