การอบรมความปลอดภัยควรทำเมื่อมีคนงานเข้าทำงานใหม่ หรือคนงานเก่าย้ายแผนก ตลอดจนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์หรือความปลอดภัยภายในสถานประกอบการด้วย ส่วนหัวข้อในการอบรมสำหรับพนักงานใหม่และพนักงานเก่าที่ย้ายแผนกควรจะมีอะไรบ้างนั้น ร้านไทยจราจรได้รวบรวมมาให้ทุกท่านได้อ่านกันทั้งหมด 10 หัวข้อในบทความนี้แล้ว
1.ชุดปฏิบัติงาน
เนื่องจากผู้เข้ามาทำงานใหม่อาจยังไม่เข้าใจว่าควรจะต้องจัดการตัวเองอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน จึงจัดอบรมเกี่ยวกับชุดปฏิบัติงาน โดยหัวข้อนี้เป็นการอบรมเกี่ยวกับสภาพร่างกายที่พนักงานต้องเตรียมให้พร้อมกับการปฏิบัติงาน เช่น การตัดผมและเล็บให้สั้น ไม่สวมเครื่องประดับหรือโลหะเข้าทำงาน เป็นต้น
2.อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยส่วนตัว
อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยส่วนตัว ไม่จำเป็นจะต้องเป็นของที่พนักงานจัดหามาเอง แต่เป็นอุปกรณ์ที่ทางสถานประกอบการณ์จัดหาให้พนักงานทุกคนใช้เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน โดยการหัวข้อนี้จะเกี่ยวข้องกับวิธีการใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันสวัสดิภาพและสุขอนามัยเป็นหลัก อุปกรณ์ดังกล่าว เช่น แว่นตา รองเท้าบูท ชุดเอี๊ยมกันน้ำ หมวกนิรภัย หน้ากาก N95 กันฝุ่นขนาดเล็ก หน้ากากกันก๊าซพิษและสารเคมีอันตราย เป็นต้น
3.การปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัย
ในหัวข้อนี้จะเป็นเรื่องของการดูแลตัวเองเบื้อต้นให้ได้รับความปลอดภัยในการทำงานประจำวันทั่วไป ตลอดจนสุขอนามัย เช่น การล้างมือเมื่อเสร็จงาน การไม่รับประทานอาหารในเขตสารเคมีฟุ้งกระจาย ไม่จุดไฟหรือใช้อุปกรณ์ประจุไฟในสถานที่เก็บวัตถุไวไฟเป็นต้น
4.สถานที่ทำงาน สถานที่เก็บอุปกรณ์และป้ายเพื่อความปลอดภัย
ในการอบรมนอกจากจะแนะนำให้ลูกจ้างใหม่รู้จักสถานที่ที่ตนต้องทำงาน ตู้เก็บอุปกรณ์ และการจัดวางเครื่องจักรตามจุดต่าง ๆ แล้ว ยังต้องจัดอบรมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น เพลิงไหม้อีกด้วย โดยจะต้องแนะนำให้ลูกจ้างใหม่รู้ว่าบันไดหนีไฟอยู่ตรงไหน นอกจากนี้อาจจัดการอบรมเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์หนีไฟ เช่น บันไดหนีไฟแบบพกพา ที่ใช้ขอเกี่ยวขอบหน้าต่างและหย่อนบันไดเพื่อปีนลงจากตึก หรือแม้แต่การใช้ถังดับเพลิง หากเป็นพนักงานต่างด้าว การอบรมนี้จะต้องอบรมให้ลูกจ้างทราบสัญลักษณ์ของป้ายตั้งถังดับเพลิงด้วย โดยป้ายตั้งถังดับเพลิงควรมีตัวอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษติดอยู่ ทั้งนี้ควรมีการซ้อมหนีไฟ ซึ่งอาจทำในการอบรมหรือนอกการอบรมแยกต่างหากก็ได้
5.เครื่องจักรและการ์ดเครื่องจักร
หากลูกจ้างต้องทำงานกับเครื่องจักร จะต้องมีการอบรมเกี่ยวกับการใช้เครื่องจักร ข้อปฏิบัติในการทำงานกับเครื่องจักร และแนะนำการ์ดป้องกันเครื่องจักรด้วย โดยการ์ดป้องกันเครื่องจักรคืออุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่กับเครื่องจักรเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน การ์ดดังกล่าวอาจแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
- การ์ดแบบตั้งอยู่กับที่ เป็นการ์ดที่ติดกับตัวเครื่องจักร ควรอบรมให้พนักงานรู้จักวิธีการตรวจสอบการทำงาน การใช้สอย และการดูแลรักษา
- การ์ดชนิกล็อกในตัว เป็นการ์ดชนิดที่ทำให้เครื่องจักรไม่ทำงานจนกว่าจะมีการขยับการ์ดให้เข้าล็อก (อยู่ในตำแหน่งพร้อมใช้งาน) แล้วเท่านั้น
- การ์ดอัตโนมัติ เป็นการ์ดชนิดที่หากอวัยวะของพนักงานเข้าไปขวางการทำงานของเครื่องจักร การ์ดจะปัดหรือผลักอวัยวะส่วนนั้นออกไปให้พ้นเส้นทางการทำงานทันที
6.การอบรมเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
พนักงานใหม่จำเป็นต้องรู้วิธีปฐมพยาบาลตัวเองในเบื้องต้น และอาจขยับไปสู่การปฐมพยาบาลเพื่อนร่วมงานที่ประสบอุบัติเหตุด้วย โดยสถานประกอบการอาจเลือกอบรมเฉพาะการปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบ่อยหรืออาจเกิดขึ้นได้ในสถานประกอบการ
7.การอบรมเพื่อปลูกจิตสำนึกในด้านความปลอดภัย
จิตสำนึกในด้านความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากขาดจิตสำนึกแล้ว การปฏิบัติย่อมหย่อนยานไปด้วย พนักงานควรตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลความปลอดภัยและสุขอนามัยของตนเอง หัวข้อนี้จึงเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ต้องมีในการอบรม
8.กฎหมาย
สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการอบรมความปลอดภัยให้กับพนักงานใหม่ คือ กฎหมาย เพราะนอกจากจะช่วยสังเกตว่ามีจุดไหนที่สถานประกอบการควรทำตามกฎหมายแล้ว พนักงานจะได้มีความรู้เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยเบื้องต้นที่กฎหมายกำหนดด้วย ทั้งนี้กฎหมายหลักที่จะต้องจัดให้มีการอบรมก็คือ พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ส่วนประกาศกระทรวงมหาดไทย 15 ฉบับ และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมอีก 2 ฉบับ สถานประกอบการสามารถเลือกจัดอบรมเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้
9.ข้อปฏิบัติภายในสถานประกอบการ
เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดเพียงมาตรการพื้นฐานเอาไว้เท่านั้น สถานประกอบการจะจัดให้มีข้อปฏิบัติที่คุ้มครองความปลอดภัยและชีวอนามัยให้ยิ่งยวดหรือดีกว่าที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ก็ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามจะต้องจัดให้มีการอบรมเกี่ยวกับข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในสถานประกอบการกับพนักงานใหม่เสมอ
10.เปิดโอกาสให้เสนอแนะวิธีการเพื่อเพิ่มความปลอดภัย
หนึ่งในสิ่งที่จะช่วยให้พนักงานใหม่รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับองค์กรคือการเปิดโอกาสให้พนักงานใหม่ได้เสนอแนะวิธีการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน ก่อนปิดการอบรมทุกครั้งจึงควรเปิดโอกาสให้พนักงานซักถาม ชี้แจงและเสนอแนะเสมอ
ความปลอดภัยและชีวอนามัยในสถานประกอบการเป็นสิ่งสำคัญที่นายจ้างและผู้บริหารจะละเลยไม่ได้ ที่สำคัญการอบรมความปลอดภัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่มีไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 16 กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่านายจ้างต้องจัดให้มีการอบรม ร้านไทยจราจรจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า 10 หัวข้อที่นำเสนอในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการอบรมในบริษัทของคุณบ้างไม่มากก็น้อย
Block "content-bottom" not found
Block "catalog-trafficfence" not found