สีจราจร (Road Markings) คือเครื่องหมายทาบนพื้นถนนที่ใช้เพื่อควบคุมการจราจรและช่วยนำทางผู้ขับขี่บนถนน โดยมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับการใช้งานและสภาพพื้นที่ สีจราจรสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท
สีทาถนนหรือสีทาเส้นจราจรเป็นสีที่ทุกคนคงเคยเห็นกันจนชินตา ไม่ว่าจะเป็นเส้นจราจรบนท้องถนน ทางม้าลาย ขอบทางเท้า หรือลานจอดรถ เคยสังเกตไหมว่า ไม่ว่ารถที่ขับจะเบรกสร้างการเสียดสีบนพื้นถนนบ่อยขนาดไหน ทำไมสีบนถนนก็แทบจะไม่หลุดลอกออกมาให้ได้เห็นเลย นั่นก็เพราะว่าสีที่ใช้ทาเหล่านี้มีคุณสมบัติพิเศษ ทนน้ำ ทนฝน และทนต่อแรงเสียดสีนั่นเอง
สีจราจร หมายถึง สีแบบผสมเสร็จชนิดไม่ผสมลูกแก้วสำหรับใช้เส้นและทำเครื่องหมายจราจรผิวทางคอนกรีตหรือแสฟัลต์ และจะสะท้อนแสงได้เมื่อโรยลูกแก้วบนผิวหน้า หมายเหตุ ลูกแก้วที่ใช้ให้เป็นไปตาม มอก.543 (อ้างอิงจาก: มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม )
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ครอบคลุมสีจราจรที่เหมาะสำหรับใช้งานบนผิวจราจร เช่น ผิวทางซีเมนต์คอนกรีต แอสฟัลต์คอนกรีต ผิวทางลาดแอสฟัลต์ และผิวถนนที่เป็นอิฐธรรมดาหรืออิฐเคลือบ ทางหลวง สะพาน อุโมงค์และลานจอดรถ
ประเภทของสีทาถนน
สีทาถนน คือ สีที่ใช้ในงานจราจรต่างๆ ทั้งเส้นจราจร สัญลักษณ์บนท้องถนน รวมถึงสามารถใช้งานในรูปแบบอื่นๆ ได้ด้วย การที่จะทาสีได้จะต้องรู้จักกับประเภทของสีทาถนนก่อน เพื่อที่จะได้เลือกใช้งานได้อย่างถูกประเภท และเหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งสีทาถนนก็รูปแบบและการใช้งานที่ต่างกันออกไป แบ่งคร่าวๆ ได้ดังนี้
สีน้ำมันคลอริเนต รับเบอร์
สีน้ำมันคลอริเนต รับเบอร์ เป็นสีทาเส้นจราจรที่ผลิตจากอะคริลิก เรซิ่น และคลอริเนต รับเบอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการยึดเกาะ ทนต่อทุกสภาพอากาศ ที่สำคัญคือทนภาวะกัดกร่อนจากน้ำเค็มได้เป็นอย่างดี สามารถใช้งานได้ทั้งงานภายในและงานภายนอก
สีทาถนน Thermoplastic
สีทาถนน Thermoplastic เป็นพลาสติกที่สามารถฉีดขึ้นรูปได้ ก่อนการใช้งานจะต้องต้มสีที่อุณหภูมิ 60-180 องศาเซลเซียส เพื่อให้พลาสติกอ่อนตัวพร้อมใช้งาน โดยให้สี Thermoplastic ไหลไปตามแม่แบบที่จัดไว้ เมื่อสีเย็นตัวลงที่ประมาณ 32 องศาเซลเซียส ก็จะแข็งตัวและเป็นรูปร่างตามแม่แบบ จากนั้นสีก็จะกลายเป็นของแข็งเกาะนูนขึ้นมาจากถนน
สำหรับสี Thermoplastic นั้น เป็นสีทาถนนที่ติดแน่น ไม่ซีดจาง แต่มีอายุการใช้งานเพียง 2 ปีเท่านั้น เมื่อครบอายุการใช้งานต้องกะเทาะออก สีประเภทนี้เหมาะสำหรับทาบนถนน ทั้งถนนลาดยางมะตอย ถนนคอนกรีต และเนินหลังเต่า แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานกับพื้นที่ไม่ทนความร้อนหรือผุผังง่าย เช่น พื้นไม้ พื้นกระเบื้องยาง
สีทาพื้น Epoxy
สีทาพื้น Epoxy เป็นสีทาพื้นที่มีส่วนประกอบจากเรซิ่นประเภท Epoxy ซึ่งมีคุณสมบัติทนทานต่อสารเคมี ช่วยให้พื้นไร้รอยต่อ ไม่รั่วซึม แต่ไม่ทนต่อแสง UV จึงเหมาะกับการใช้ทาพื้นที่ในร่มมากกว่า หากใช้ทาพื้นที่กลางแจ้งที่โดนแดดหรือความร้อนจัดๆ จะทำให้สีเสื่อมสภาพเป็นฝุ่นผงได้
สีทาถนน Cold Plastic Color
สีทาถนน Cold Plastic Color เป็นสีที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการลื่น ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และทนทานต่อการใช้งานภายใต้แรงกดทับสูง สีประเภทนี้จึงมีแรงเสียดทานระหว่างรถกับถนน ทำให้ไม่ลื่น จึงมักจะทาบริเวณที่เป็นจุดอันตรายเช่น ทางโค้ง ทางแยก ทางลาดชัน และทางข้ามถนน เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้สำหรับทำเส้นจราจรหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ได้อีกด้วย
สีทาเส้นจราจร Water-based Paints
Water-based Paints เป็นสีทาเส้นจราจรสูตรน้ำ ที่มีคุณสมบัติแห้งเร็ว แม้ในสภาวะที่ความชื้นสูง ยึดเกาะได้ดี มีความทนทาน ไม่หลุดลอกได้ง่าย และสามารถมองเห็นได้ดีในเวลากลางคืน นอกจากนี้ยังเป็นสีทาถนนที่มีสารระเหยต่ำ (Low VOCs) จึงเป็นสีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
รู้ไว้ได้ใช้ชัวร์ รวมสิ่งที่ต้องรู้ในการใช้สีทาถนน
- ลักษณะการใช้งาน: สำหรับการใช้งานสีทาถนนทีโอเอ สามารถใช้งานได้กับพื้นผิวคอนกรีตอย่าง พื้นถนน พื้นทางด่วน ลานจอดรถ เครื่องหมายจราจร รวมทั้งขอบทางจราจร และทางเท้า
- ก่อนการใช้งาน: เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เช่น แปรง หรือลูกกลิ้ง ก่อนทาสีถนน หากอยากให้ทาง่าย ได้ฟิล์มสีเรียบ และสียึดเกาะได้ดีขึ้น ควรผสมกับ ทีโอเอ ทินเนอร์ เบอร์ 81 ซึ่งเป็นทินเนอร์สำหรับสีทาถนนโดยเฉพาะ
- เตรียมพื้นผิว การเตรียมพื้นผิวเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลกับผลงานหลังทาสีถนนออกมา ซึ่งพื้นผิวที่ต้องเตรียม ก็แบ่งได้ดังนี้
- พื้นผิวใหม่: สำหรับพื้นผิวที่ยังไม่เคยผ่านการทำสีมาก่อน ควรทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า และน้ำยาทำความสะอาด หลังจากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง
- พื้นผิวเก่า: พื้นผิวที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ควรทำความสะอาดคราบสกปรก คราบฝุ่น ไขมัน และขัดสีเก่าออกให้หมด เพื่อเตรียมพื้นผิวให้พร้อมทาสีใหม่ แต่สำหรับพื้นผิวที่เป็นชอล์คหรือเสื่อมสภาพจะต้องทำความสะอาดด้วยแปรงไนลอนก่อน
- การเก็บรักษา: การเก็บรักษาสีทาถนนนั้น สีต้องปิดฝาให้สนิท และจัดเก็บในที่แห้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ที่สำคัญไม่ควรจัดเก็บไว้ในที่ร้อนๆ และควรระวังไม่ให้สีโดนแดดโดยตรง
ความหมายที่แตกต่างของเฉดสีทาถนน
สีที่ใช้ในเครื่องหมายจราจรแต่ละสีนั้น มีการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งกฎหมายในแต่ละประเทศได้มีการกำหนดไว้แตกต่างกันออกไป สำหรับประเทศไทยนั้น ให้ใช้สีขาวและสีเหลืองเป็นเครื่องหมายจราจรบนพื้นทาง ส่วนสีดำใช้เพื่อเพิ่มการตัดสีเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดของการใช้สีขาว สีเหลือง และสีดำจะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลย
สีขาว
สำหรับเครื่องหมายจราจรบนพื้นที่ใช้สีขาวมีดังนี้
- เส้นแบ่งช่องเดินรถ หรือช่องจราจร
- เส้นขอบทางด้านซ้าย
- รูปบั้งบริเวณหัวเกาะ
- เส้นหยุด
- เส้นให้ทาง
- ทางคนข้าม
- เส้นแสดงการจอดรถ
- รูปเกาะบริเวณทางแยก
- เครื่องหมายและข้อความบนพื้นทางจราจร
สีเหลือง
เครื่องหมายจราจรบนพื้นถนนที่ใช้สีเหลืองมีดังนี้
- เส้นแบ่งทิศทางจราจร
- เส้นขอบทางด้านขวาบนทางคู่
- เส้นเฉียงบริเวณเกาะแบ่งทิศทางจราจร
- เส้นทแยงห้ามหยุดขวาง
สีดำ
หลายๆ คนอาจจะเข้าใจว่าการทาสีดำสลับขาวในงานจราจร เป็นพื้นที่ที่สามารถจอดรถได้ แต่จริงๆ แล้วพื้นที่ที่ทาสีดำสลับขาวในงานจราจร เช่น การทาสีดำสลับขาวช่วงขึ้นสะพาน หรือวงเวียนกลับรถ หมายถึง พื้นที่แสดงตำแหน่งอุปสรรค ห้ามจอดรถพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ และเป็นอันตรายได้ ไม่ได้เป็นเครื่องหมายอนุญาตให้จอดรถแต่อย่างใด
สีแดง
สีแดงเป็นสีที่ใช้เสริมในงานจราจร ซึ่งมักจะใช้เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการห้าม สำหรับบริเวณใดที่มีเครื่องหมายจราจรที่ใช้สีแดง บ่งบอกว่าบริเวณนั้นห้ามเข้า ห้ามจอด ห้ามหยุดรถ หรือว่าห้ามใช้งาน
สีจราจรเหมาะสำหรับทุกพื้นที่ทางถนนทั่วไป แต่สามารถมีการปรับเปลี่ยนสีและการจัดวางตามความเหมาะสมในท้องถนนและสภาพการจราจรที่ต่างกัน เพื่อให้มีความปลอดภัยและเรียบร้อยในการจราจร นอกจากนี้ สีจราจรยังมีการใช้ในสนามบิน ท่าเรือ และสถานที่อื่น ๆ ที่ต้องการควบคุมการเคลื่อนไหวของยานพาหนะ
ที่มา:
- https://www.toagroup.com/en/blogs/toa-tips-how-to/170/road-marking-paint
- มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.415-2541สีจราจร (https://opac.tistr.or.th/Multimedia/Standards/TIS/TIS_415-2541.pdf)