การทำงานในสถานประกอบการ เช่น สถานที่ก่อสร้าง โรงงาน หรืออื่น ๆ ลูกจ้างควรเรียนรู้ที่จะทำงานอย่างปลอดภัย ดังนั้นสถานประกอบการจึงควรจัดให้มีหลักสูตรความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้กับลูกจ้าง ว่าแต่หลักสูตรดังกล่าวนี้เขาอบรมเกี่ยวกับอะไรกันบ้าง วันนี้ร้านไทยจราจรได้รวบรวม 10 หัวข้อหลักสูตรดังกล่าวมาไว้ในบทความนี้แล้ว
1.ผังสถานที่ทำงาน
การศึกษาเกี่ยวกับผังของสถานประกอบการมีความสำคัญมาก เพราะผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องทราบล่วงหน้าว่าสถานที่ที่จัดไว้เพื่อความปลอดภัยอยู่ที่ใด ไม่ว่าจะเป็น บันไดหนีไฟ สถานที่จัดเก็บวัตถุไวไฟ หรือสถานที่ที่เก็บสารเคมีเป็นอันตรายต่อสุขภาพและจำเป็นต้องสวมเครื่องป้องกันเท่านั้นจึงจะเข้าไปในพื้นที่นั่นได้ นอกจากนี้ยังต้องให้ความรู้เกี่ยวกับป้ายและเครื่องหมายในสถานประกอบการ เช่น ป้ายทางออกฉุกเฉิน อีกด้วย
2.การทำงานบนที่สูงและเขตก่อสร้าง
หัวข้อนี้จะเป็นการอบรมคนงานให้สังเกตอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงานในที่สูง เช่น บันไดมีความพร้อมหรือไม่ การวางหรือการพาดบันไดลิงอย่างถูกต้อง สำหรับการทำงานในเขตก่อสร้าง หลักสูตรการอบรมจะต้องทำให้ลูกจ้างทราบเกี่ยวกับป้ายห้ามเข้าเขตก่อสร้าง โดยเฉพาะคนงานต่างด้าวต้องเข้าในป้ายเตือนต่าง ๆ ในเขต รวมถึงสัญญาณไฟ เช่น ไฟกระพริบโซล่าเซลล์ชนิดเคลื่อนย้ายได้ ที่ให้ไฟสีแดงสลับน้ำเงินเพื่อบอกเขตก่อสร้าง
3.เครื่องจักรและการ์ดป้องกันเครื่องจักร
หัวข้อนี้เป็นการอบรมลูกจ้างให้รู้จักเครื่องจักรเพื่อที่จะตรวจเช็คความพร้อมของเครื่องจักร ตลอดจนทราบได้ทันทีว่าเครื่องจักรทำงานผิดปกตินำไปสู่การแจ้งซ่อมอย่างทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานของเครื่องจักรขึ้น ส่วนการ์ดป้องกันเครื่องจักร คือ ส่วนที่ติดตั้งเอาไว้กับเครื่องเพื่อป้องกันอันตราย ไม่ว่าจะจากใบมีด ความร้อน หรือส่วนอันตรายอื่น ๆ ของเครื่องจักร
4.การเคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของอย่างปลอดภัย
บ่อยครั้งในสถานประกอบการลูกจ้างจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของ จึงควรอบรมเกี่ยวกับท่าที่ใช้ในการยกของหนักไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและการใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น เข็มขัดพยุงหลัง เพื่อประคองกล้ามเนื้อหลังไม่ให้บาดเจ็บอีกด้วย นอกาจากนี้หากในสถานประกอบการมีอุปกรณ์ขนย้ายก็ต้องจัดอบรมการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นอย่างปลอดภัยด้วย เช่น วิธีใช้ปั้นจั่น สะพานลำเลียง รอก และอื่น ๆ
5.ชุดปฏิบัติงานและอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย
การอบรมในหัวข้อนี้จะเน้นเกี่ยวกับการแต่งตัวในเวลาทำงาน เช่น การสวมหมวกคลุมผม การไม่ไว้ผมยาว การตัดเล็บให้สั้น ตลอดจนการไม่สวมเครื่องประดับ เช่น สร้อยข้อมือ นอกจากนี้ยังต้องอบรมเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย เช่น วิธีการการสวมหมวกนิรภัย การใช้หน้ากาก N95 (กันฝุ่นขนาดเล็ก) และหน้ากากป้องกันสารเคมี เป็นต้น
6.การปฏิบัติตนเมื่อเกิดอัคคีภัย
หัวข้อนี้จะเริ่มจากการให้ความรู้เกี่ยวกับสารไวไฟ ว่าควรใช้อย่างไร หรือมีมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานกับไวไฟอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังต้องอบรมเกี่ยวกับการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากเหตุอัคคีภัย เช่น การใช้บันไดหนีไฟ และการดับเพลิง เช่น วิธีใช้ถังดับเพลิง เป็นสิ่งที่จะต้องมีในการอบรมเสมอ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการอบรมนี้ก็คือการอบรมให้ลูกจ้างดูแลตัวเองไม่ให้ขาดอากาศหายใจในเหตุเพลิงไหม้ เช่น การใช้ผ้าชุบน้ำผิดจมูกเพื่อกรองควันไฟและมีอากาศผ่านเข้าไปมากพอให้หายใจได้ ในสถานประกอบการที่นายจ้างมีความตระหนักในความปลอดภัยด้านนี้มาก ๆ อาจจัดให้มีการอบรมชุดผจญเพลิงให้กับพนักงานและจัดตั้งชุดผจญเพลิงขึ้นในสถานประกอบการเองก็ได้
7.การป้องกันอันตรายเฉพาะด้าน
การป้องกันอันตรายเฉพาะด้าน ขึ้นอยู่กับว่าสถานประกอบการนั้น ๆ มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งอันตรายใดบ้าง สิ่งอันตรายดังกล่าว เช่น ไฟฟ้า สารเคมี ภาชนะความดันสูง งานเชื่อม เชื้อเพลิงและวัตถุระเบิด งานประดาน้ำ และสถานที่อับอากาศ เป็นต้น
8.สุขอนามัย
หัวข้อนี้จะอบรมเกี่ยวกับสุขอนามัยพื้นฐาน เช่น การล้างมือหลังเลิกงาน หรือการไม่รับประทานอาหารในสถานที่ทำงานที่มีฝุ่นและสารเคมีฟุ้งกระจาย โดยเน้นการกระทำที่เสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนงานและลูกจ้างอื่น ๆ ภายในสถานประกอบการ
9.การปฐมพยาบาล
การอบรมเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล สถานประกอบการสามารถเลือกอบรมเฉพาะการปฐมพยาบาลต่อการบาดเจ็บที่อาจเกิดในสถานประกอบการ เช่น ในโรงกลั่นน้ำมัน อาจอบรมการปฐมพยาบาลผู้ถูกไฟไหม้ หรือผู้ที่สูดไอน้ำมันมากเกินไปเป็นหลัก ส่วนโรงงานผลิตสารเคมี อาจอบรมวิธีปฐมพยาบาลผู้สัมผัสหรือสูดดมสารเคมีเป็นหลักก็ได้
10.กฎหมาย
เนื่องจากกฎหมายเป็นมาตรการขั้นพื้นฐานที่จะทำให้คนงาน ลูกจ้าง และผู้ทำงานในสถานประกอบการทุกคนได้รับความปลอดภัยในเบื้องต้น จึงควรจัดการอบรมเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานมีทั้งหมด 18 ฉบับ เป็นพระราชบัญญัติ 1 ฉบับ ประกาศกระทรวงมหาไทย 15 ฉบับ และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมอีก 2 ฉบับ โดยสถานประกอบการสามารถเลือกจัดอบรมเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ เช่น สถานประกอบการเกี่ยวกับงานก่อสร้างก็ไม่จำเป็นต้องจัดอบรมเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อความปลอดภัยในงานประดาน้ำ เป็นต้น
การจัดหัวข้อในการอบรม จะจัดอย่างไรนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดรายละเอียดเอาไว้ เพียงแต่หัวข้อควรตอบสนองวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างสวัสดิภาพ และชีวอนามัย โดยคำว่าชีวอนามัยก็คือการเสริมสร้างสุขภาพของพนักงาน การป้องกันคนงานไม่ให้มีสุขภาพเสื่อมโทรม เสี่ยงอันตรายมากเกินไป และส่งเสริมไม่ให้คนงานทำงานในสถานที่ที่เป็นอันตรายต่อสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นสิ่งที่ร้านไทยจราจรนำเสนอในบทความนี้จึงเป็นเพียงหัวข้อตัวอย่างเท่านั้น หากนายจ้างสามารถกำหนดหัวข้อได้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะมากหรือน้อยกว่าตัวอย่างของเราก็ไม่เป็นไร เดินหน้าจัดอบรมได้เลยครับ
Block "content-bottom" not found
Block "catalog-trafficfence" not found