สัญญาณไฟจราจรคืออุปกรณ์จราจรที่ใช้เพื่อควบคุมให้รถตามช่องทางวิ่งกันไปได้อย่างเป็นระเบียบ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีรถยนต์อยู่เป็นจำนวนมาก มีความหนาแน่นของรถที่ใช้สัญจรผ่านไปมา หรือในบริเวณที่มีลักษณะเป็นทางแยก หรือรถยนต์จำเป็นต้องวิ่งสวนทางการไปมา การทราบสัญญาณล่วงหน้าว่าช่องทางใดจะสามารถเดินทางไปก่อนได้ จะช่วยลดโอกาสกระทบกระทั่ง การเฉี่ยวชน หรืออุบัติเหตุในลักษณะต่าง ๆ ได้ดีดี แต่การติดตั้งไฟจราจรที่ดีควรปฏิบัติตามรายละเอียดที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่ผู้ขับขี่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถปฏิบัติตามได้อย่างเหมาะสม ซึ่งทางร้านไทยจราจรขอแนะนำวิธีการติดตั้งไฟจราจรที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทยตามรายละเอียดต่อไปนี้
1.ขนาดของหัวสัญญาณ โดยทั่วไปให้ใช้หัวสัญญาณของไฟจราจรที่ 2 ขนาด คือขนาด 200 และ 300 มิลลิเมตร กรณีทางแยกปกติจะใช้หัวสัญญาณขนาด 200 มิลลิเมตร แต่หากมีรายละเอียดต่อไปนี้ให้พิจารณาเลือกใช้หัวสัญญาณที่มีขนาด 300 มิลลิเมตรแทน
- ไฟจราจรตั้งอยู่ในระยะห่างจากเส้นหยุดที่ 35 – 45 เมตร โดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ เพิ่มเติม แต่ในกรณีที่ระยะห่างมากกว่า 45 เมตร นอกจากจะใช้หัวสัญญาณขนาด 300 มิลลิเมตรแล้ว ยังควรเพิ่มเติมสัญญาณเตือนอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย
- ไฟจราจรอยู่บนเสาที่มีความสูง
- ไฟจราจรอยู่ในบริเวณที่ผู้ขับขี่ไม่คาดคิด
- ผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณที่ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร ต้องการใช้สัญญาณที่มองเห็นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ
- ตามเกณฑ์พิจารณาทางวิศวกรรม หรือผู้เชี่ยวชาญ
2.ปริมาณของไฟจราจร นอกจากขนาดของหัวสัญญาณจราจรจะมีความสำคัญต่อการสังเกตของผู้ขับขี่แล้ว ปริมาณของไฟจราจรก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยทั่วไปใน 1 ทิศทางควรติดตั้งสัญญาณไฟจราจรอย่างน้อย 2 ตำแหน่ง คือตำแหน่งระยะใกล้ และตำแหน่งระยะไกล โดยมีรายละเอียดในการติดตั้งดังนี้
- ไฟจราจรมุมซ้ายใกล้ เป็นไฟจราจรสัญญาณหลัก ติดตั้งบนทางเท้า หรือไหล่ทางด้านซ้ายหลังแนวเส้นหยุด ติดตั้งในระดับเท่ากับเส้นหยุดหรือใกล้เคียงให้มากที่สุด แต่ไม่ควรเกิน 3 เมตร
- ไฟจราจรมุมขวาใกล้ เป็นไฟจราจรสัญญาณรอง การติดตั้งให้ติดตั้งบริเวณกึ่งกลางของเกาะกลางถนน แต่กรณีที่เกาะกลางถนนมีความกว้างมาก ให้ติดตั้งห่างจากระยะขอบของฟุตบาทไม่เกิน 2 เมตร และห่างจากตำแหน่งจมูกของเกาะกลางถนนได้ไม่เกิน 2 เมตร
- ไฟจราจรด้านซ้ายไกล เป็นไฟจราจรสัญญาณรอง ติดตั้งบนทางเท้าหรือไหล่ทางด้านซ้าย
- ไฟจราจรด้านขวาไกล เป็นไฟจราจรสัญญาณรอง ติดตั้งบนทางเท้าหรือไหล่ทางด้านขวา
- ไฟจราจรแบบสูง เป็นการติดตั้งบนเสาที่สูงกว่าเสาไฟจราจรทั่วไป เพื่อให้ยวดยานพาหนะสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น หรือใช้ในกรณีที่ช่องทางจราจรมีเป็นจำนวนมากยากต่อการมองเห็นเมื่อติดตั้งไฟจราจรที่ด้านใดด้านหนึ่ง
3.ระยะห่างในการติดตั้ง กรณีถนนที่มีขนาดเล็ก หรือช่องจราจรไม่เกิน 2 ช่อง ให้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรอย่างน้อย 2 ชุดต่อทิศทาง คือไฟจราจรหลักอยู่ด้านซ้ายใกล้ และไฟจราจรรองอยู่ด้านขวาไกล หรือสัญญาณไฟบนเสาสูง แต่กรณีที่ช่องทางจราจรมากกว่า 2 ช่องทาง ควรติดตั้งไฟจราจรบนเสาขนาดธรรมดาอย่างน้อย 3 ชุดต่อทิศทาง คือไฟจราจรมุมซ้ายใกล้ ไฟจราจรมุมขวาไกล และไฟจราจรมุมซ้ายไกล หรือไฟจราจรบนเสาสูงแทน กรณีเป็นสัญญาณไฟแบบบอกทิศทาง หรือสัญญาณไฟมีลักษณะเป็นหัวลูกศรให้ติดตั้งครั้งละไม่น้อยกว่า 2 ชุดต่อ 1 ทิศทาง แต่ในกรณีเป็นไฟสัญญาณเลี้ยวซ้ายสามารถติดตั้งที่ตำแหน่งเดียวคือชุดไฟจราจรด้านซ้ายใกล้ได้
4.ระยะห่างจากพื้นผิวถนน การติดตั้งไฟจราจรที่ดีควรพิจารณาระยะห่างที่ช่วยให้สัญญาณจราจรมีความปลอดภัยด้วย ซึ่งระยะห่างจากผิวถนนที่ดีของไฟจราจรบนเสาแบบธรรมดาคือระยะที่โคมไฟห่างจากขอบทางเท้าหรือไหล่ทางอย่างน้อย 6 เมตร ขอบด้านล่างของไฟจราจรไม่ควรมีระยะห่างจากพื้นผิวจราจรน้อยกว่า 2.5 เมตร แต่กรณีที่เป็นไฟจราจรบนเสาสูง ศูนย์กลางของเสาไฟจราจรควรห่างจากขอบทางหรือไหล่ทางไม่น้อยกว่า 0.8 เมตร ขอบล่างของดวงโคมควรอยู่สูงจากผิวจราจรอย่างน้อย 5.5 เมตร ความยาวของแขนยื่นไม่ควรมากกว่า 4.5 เมตร และหากมีการติดตั้งไฟจราจร 2 ชุดบนเสาต้นเดียวกัน ระยะห่างระหว่างชุดโคมไฟทั้ง 2 ไม่ควรน้อยกว่า 0.3 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟจราจรทั้ง 2 ชุดกระทบกันตามแรงลม
การติดตั้งสัญญาณไฟจราจรโดยคำนึงถึงมาตรฐานที่ดีในการติดตั้ง นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน มีประสิทธิภาพในการควบคุมเส้นทางการสัญจรของรถยนต์ทุกประเภทที่ใช้ท้องถนนในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ทั้งยังอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยจากการถูกเฉี่ยวชน หรืออยู่บนเสาสัญญาณไฟจราจรที่มั่นคงและปลอดภัย นอกจากนี้ร้านไทยจราจรขอแนะนำว่าควรพิจารณาเลือกไฟจราจรที่มีคุณภาพดี พร้อมตู้ควบคุมสัญญาณคุณภาพดีที่ปกป้องระบบไฟฟ้าควบคุมไฟจราจรให้ปลอดภัยจากสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี แต่อย่างไรก็ดีเมื่อติดตั้งไฟจราจรแล้วก็ต้องมีการดูแลรักษาทดสอบระบบไฟฟ้ายังสามารถใช้งานได้ดีอยู่เสมอ รวมถึงการทำความสะอาดหลอดไฟให้สว่างและมองเห็นได้ชัดเจนอยู่เสมอด้วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนได้อย่างแท้จริง
Block "content-bottom" not found