คุยโทรศัพท์ไป ขับรถไป อันตรายขนาดไหน?

             การขับรถไปคุยโทรศัพท์มือถือไป เรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมเสี่ยงบนท้องถนน ที่เป็นอันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของตัวผู้ขับขี่เองและผู้คนที่สัญจรร่วมถนนเดียวกัน
 
            ในวันนี้ ร้านไทยจราจร จะขอนำเสนอบทความเกี่ยวกับโทษภัยของการใช้โทรศัพท์ระหว่างการขับขี่ เพื่อให้ทุกท่านเพิ่มความระมัดระวัง ไม่ใช้มือถือตลอดเส้นทางขับขี่ยานพาหนะ เพื่อความปลอดภัยไร้กังวลและทำให้ถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ
 
การคุยไป ขับรถไป สร้างความเสียหายอย่างไร
              การขับขี่รถยนต์พร้อมกับการคุยโทรศัพท์มือถือเป็นพฤติกรรมที่สร้างผลเสียหายได้มากมาย ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ดังนี้
 
1. การคุยโทรศัพท์ทำให้ผู้ขับขี่ไม่มีสมาธิในการขับรถยนต์เท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในเส้นทางการจราจรที่คับคั่ง เมื่อต้องแบ่งความสนใจหรือมีอารมณ์อยู่ที่การพูดคุยกับคนปลายสาย ก็มักทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียบเบรก–คันเร่ง การใส่เกียร์ (ไม่ว่าเกียร์ออโต้ หรือเกียร์กระปุก) ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานในการขับขี่ผิดเพี้ยนไป ไม่สามารถตัดสินใจได้ทันต่อเหตุการณ์ เนื่องจากข้อจำกัดของสมองคนเราไม่สามารถคิดหรือทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีพร้อมกัน นำมาซึ่งอุบัติเหตุจราจรบนท้องถนนได้บ่อย ๆ
 
2. การขับขี่รถพร้อมกับการคุยมือถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก (ฉบับที่ 8) ออกบังคับใช้เมื่อ พ.ศ. 2551 ในมาตราที่ 43 วงเล็บ 9 ระบุว่าการยกมือถือมาคุยระหว่างการขับขี่ มีโทษปรับ ตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และจะถูกตัดคะแนนในระบบของกรมการขนส่ง 10 คะแนนด้วย (เกิดจากการที่มีการวิจัยและเก็บสถิติ พบว่าการใช้โทรศัพท์ในระหว่างการขับขี่เป็นต้นเหตุของปัญหารถเฉี่ยวชนโดยส่วนใหญ่)
 
3. การคุยโทรศัพท์ระหว่างการขับขี่มีโอกาสสูงที่จะเกิดการเบรกอย่างกะทันหัน เช่น บริเวณทางม้าลายที่มีคนเดินข้ามถนนอย่างไม่ทันระวัง การจอดอย่างกระชั้นชิดตรงป้ายสัญญาณจราจรไฟแดง ฯลฯ อันเกิดจากการที่ผู้ขับขี่ไม่ทันสังเกตป้ายเตือนหรือสัญญาณไฟ ที่ต้องเตรียมชะลอความเร็วจากระยะไกล ซึ่งมักทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนจากรถที่ขับตามมาจนเกิดการเฉี่ยวชนกันได้
 
4. การที่ผู้ขับขี่มีใจจดจ่อกับการพูดคุยและต้องมีการจดบันทึกด้วยปากกาบนกระดาษไปพร้อม ๆ กันเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องละสายตาจากถนน เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ตามมากับการโทรศัพท์ เพราะอย่าลืมว่าอุบัติภัยสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เพียงชั่วพริบตาอาจมีคนกำลังข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย หรือทางเดินคนข้ามถนน โดยเฉพาะบริเวณเขตชุมชนและหน้าโรงเรียน ที่มีเด็กเล็กและผู้คนพลุกพล่าน แม้จะมีป้ายเตือนเขตโรงเรียนและมียางชะลอความเร็วติดตั้งอยู่ที่พื้นถนน แต่ก็เคยเกิดเหตุเหตุการณ์ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
 
สิ่งที่ควรทำ เมื่อรู้ว่าจำเป็นต้องโทรศัพท์
             การคุยโทรศัพท์มือถือระหว่างขับขี่มีอันตรายและเป็นพฤติกรรมผิดกฎหมายดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้น หากจำเป็นต้องคุยโทรศัพท์เพื่อติดต่อธุระหรือนัดหมาย ควรเลือกวิธีการ ต่อไปนี้
 
1. การจอดรถชิดข้างทางเพื่อหยุดคุยโทรศัพท์อย่างเดียว ซึ่งควรเลือกบริเวณที่ห่างไกลจากจุดที่การจราจรแออัด หากมีปั้มน้ำมันหรือร้านค้าสะดวกซื้อพร้อมลานจอดรถอยู่ใกล้ ๆ ก็ควรเลือกจอดในบริเวณนั้น
 
2. ในเวลากลางคืน หากมีความจำเป็นต้องจอดรถเพื่อคุยโทรศัพท์ แนะนำให้เลือกบริเวณใกล้โคมไฟถนนโซล่าเซลล์ ที่ส่องสว่างเพียงพอ ลดความเสี่ยงที่จะถูกรถยนต์คันอื่นชนท้ายหรือถูกโจรกรรมทรัพย์สิน หากมีกรวยจราจรสะท้อนแสงแบบพับได้พกพาติดท้ายรถอยู่แล้ว ก็ควรนำมาวางห่างจากด้านท้ายของรถขึ้นไปราว 100 – 150 เมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ามีรถยนต์จอดอยู่ จะเป็นการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้อีกมาก
 
3. การใช้อุปกรณ์เสริม เช่น Smalltalk ชุดหูฟัง หรือการใช้แท่นวางมือถือแบบติดคอนโซลหรือกระจกหน้ารถยนต์ เป็นอีกวิธีการที่ได้รับความนิยม ทำให้ไม่ต้องเสียมือข้างหนึ่งไปกับการถือโทรศัพท์ สามารถจับพวงมาลัยและบังคับทิศทางรถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
 
4. การรับข้อความทางไลน์หรือแอพพลิเคชันต่าง ๆ ทิ้งไว้ แล้วรอจังหวะเมื่อถึงที่หมายค่อยหยิบโทรศัพท์มาดู เป็นเทคนิคที่ใช้ได้ดีและไม่ทำให้ขาดการติดต่อกับบุคคลปลายทาง ทั้งยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและหน้าที่ภาระงานส่วนตัวพร้อมกัน ทำให้ลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้มากทีเดียว
 
ผลการวิจัยชี้อันตรายในการขับขี่ร่วมกับการใช้โทรศัพท์
               ในต่างประเทศมีการศึกษาประเด็นนี้ ด้วยการสร้างสถานการณ์เสมือนจริง โดยให้ผู้ขับขี่มีการคุยโทรศัพท์มือถือไปพร้อมกันกลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนระดับความเข้มข้นของ แอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกว่า 0.08 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มควบคุม คือไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และห้ามคุยโทรศัพท์ระหว่างการขับขี่
 
                ผลปรากฏว่าคนกลุ่มแรกที่ให้คุยโทรศัพท์มือถือหลังพวงมาลัยนั้น มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจราจรมากกว่าคนกลุ่มสองและกลุ่มสาม ถึง 5.36 เท่า เรียกได้ว่าเป็นผลที่เกินความคาดหมาย เนื่องจากคนทั่วไปคิดว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น่าจะมีผลต่อการขับขี่สูงที่สุด
 
            ดังนั้น การขับขี่รถยนต์และพาหนะใด ๆ ก็ตาม ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการใช้โทรศัพท์มือถือควบคู่ไปด้วย เนื่องจากการขาดสมาธิและการตอบสนองต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
 
             เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยกระตุ้นให้หลายท่านคำนึงถึงความสำคัญของการมีสติ และสมาธิระหว่างการขับขี่รถให้มากขึ้น งดการคุยโทรศัพท์ระหว่างการใช้รถใช้ถนน เพื่อเป็นการรักษาวินัยการจราจร และลดอัตราการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองและผู้อื่นให้ได้มากที่สุด
หากท่านต้องการผลิตภัณฑ์เพิ่มความปลอดภัยในการจราจร เชิญชมสินค้าของเรา ร้านไทยจราจร ได้ที่ www.trafficthai.com  เรายินดีให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
 

Block "content-bottom" not found