ขยะ เป็นสิ่งที่เหลือใช้จากการใช้งานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นขยะจากกระบวนการผลิต, ขยะจากการอุปโภคบริโภค หรือจากการเสื่อมสภาพของวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นจนไม่เป็นที่ต้องการและไม่สามารถที่จะย่อยสลายเองได้ภายในระยะเวลาอันสั้น จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้ขยะถูกกำจัดอย่างถูกวิธี เพราะหากไม่เช่นนั้นแล้ว ขยะที่ไม่ย่อยสลายเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้
ประเภทของขยะที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์
ขยะ ที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือของมนุษย์ประกอบไปด้วย 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ขยะทั่วไปและขยะอันตราย ซึ่งขยะดังกล่าวสามารถแยกย่อยลงไปได้อีกตามชนิดและวิธีกำจัด เช่น ขยะรีไซเคิล, ขยะเศษอาหาร ซึ่งทุกคนจะต้องช่วยกันแยกขยะเพื่อที่จะนำไปทำลายได้อย่างถูกต้องและลดเวลาการจัดเก็บของเจ้าหน้าที่ได้ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างรายได้จากขยะรีไซเคิลได้อีกด้วย
⦁ ขยะทั่วไป คือ ขยะที่ใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลาย ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ หรือไม่คุ้มค่าในการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ถุงขนม, ถุงพลาสติก, โฟมบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ
⦁ ขยะเศษอาหาร คือ ขยะจากอาหารที่รับประทานไม่หมด สามารถย่อยสลายเองตามธรรมชาติได้ เช่น เศษผัก, เปลือกผลไม้, เศษอาหารในมื้อต่าง ๆ ส่วนใหญ่อาจนำไปเลี้ยงสัตว์หรือทำปุ๋ยหมัก วิธีการกำจัดจะใช้วิธีการฝังกลบ
⦁ ขยะรีไซเคิล คือ ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งในรูปแบบ Reuse และ Recycle เช่น ขวดแก้ว, ขวดพลาสติก, เศษเหล็ก, ทองแดง, กระป๋องโลหะต่าง ๆ กล่องกระดาษ เป็นต้น
⦁ ขยะอันตราย คือ ขยะที่มี ป้ายเตือน ว่า ‘เป็นพิษ’ หรือมีการวิเคราะห์แล้วและส่งผลต่อมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถกำจัดด้วยวิธีการปกติได้ ต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี เช่น หลอดไฟ, แบตเตอรี่, ขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล, วัตถุมีพิษต่าง ๆ
แหล่งกำเนิดขยะต่าง ๆ
สำหรับขยะทั้ง 4 ประเภท สามารถพบได้ตามบ้านเรือน, ที่พักอาศัย, ตลาด, ชุมชน ตลอดจนสถานที่ราชการ โรงเรียน ห้างสรรพสินค้าหรือแม้แต่ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งขยะแต่ละประเภทก็จะมีวิธีการในการกำจัดที่แตกต่างกัน รวมถึงแหล่งกำเนิดขยะจะต้องมีการควบคุมและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุญาตในการกำจัดขยะให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ขยะจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องได้รับใบอนุญาตและส่งรายงานประจำปี (สก.3) ต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ขนส่งและผู้รับกำจัดขยะจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนและมีใบอนุญาตที่ถูกต้องด้วย โรงงานจึงจะสามารถทิ้งขยะจากกระบวนการผลิตได้ รวมถึงขยะที่สามารถนำมารีไซเคิล หรือขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า จะต้องแจ้งให้กรมโรงงานรู้ทุกครั้งที่มีการขน หรือจำหน่าย ซึ่งขยะจากกระบวนการผลิตสามารถจัดเก็บไว้ที่แหล่งกำเนิดได้ไม่เกิน 120 วัน หากต้องการจัดเก็บไว้เกินระยะเวลาดังกล่าว จะต้องขออนุญาตขยายระยะเวลาในการจัดเก็บด้วยแบบแจ้งขอขยายระยะเวลาในการกักเก็บสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว สก.1 เช่น ปริมาณน้อยเกินไป ไม่คุ้มค่าต่อการบำบัด เป็นต้น ในขณะที่ขยะมูลฝอยทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตสามารถทิ้งกับรถขยะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตามปกติ
วิธีการกำจัดและบำบัดขยะที่ถูกต้องตามกฎหมาย
หลังจากที่ทราบแหล่งที่มาและประเภทของขยะแล้ว ต่อไปจะกล่าวถึงวิธีการกำจัดและบำบัดขยะที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเป็นข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเจ้าของกิจการจะต้องปฏิบัติตาม โดยก่อนการนำขยะจากกระบวนการผลิตไปกำจัดนั้น จำเป็นจะต้องนำขยะดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการตรวจ วิเคราะห์ของเสีย หาสารพิษและสิ่งปนเปื้อนเพื่อหาวิธีการกำจัดและบำบัดต่อไป โดยวิธีกำจัด ได้แก่ การฝังกลบ, การใช้สารเคมีบำบัดก่อนจึงจะกำจัดได้ เช่น กากตะกอน, การเผาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการถลุงปูนซีเมนต์, การเผาแบบพิเศษเพื่อป้องกันสารพิษจากการเผาไหม้ ซึ่งผู้รับกำจัดจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามประเภท และความสามารถในการกำจัด/บำบัดขยะนั้น ๆ ไม่สามารถกำจัดผิดประเภทได้
ผลกระทบของการจัดเก็บขยะที่ไม่ถูกต้อง
ขยะทุกชนิดจำเป็นที่จะต้องได้รับการคัดแยกอย่างถูกต้องและถูกวิธี ห้ามนำมาทิ้งปะปนกันเป็นอันขาด เพราะจะส่งผลกระทบต่อไปนี้
⦁ เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค โดยเฉพาะการนำเศษอาหารและขยะติดเชื้อต่าง ๆ มาทิ้งปะปนกัน
⦁ สารพิษและเคมีอันตรายในถังขยะ
⦁ หากไม่ได้รับการจัดเก็บที่ดีอาจทำให้ขยะส่งกลิ่นเหม็น
⦁ สูญเสียรายได้จากการทิ้งขยะรีไซเคิล
⦁ เกิดก๊าซพิษจากการเผาขยะ
⦁ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเน่าเสีย, ควันพิษ
⦁ ชุมชนไม่น่าอยู่
แนวทางและวิธีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง
ก่อนที่จะทำการทิ้งขยะเพื่อส่งไปกำจัดหรือบำบัดนั้น จะต้องทำการคัดแยกขยะเสียก่อนเพื่อให้ได้ปริมาณขยะที่ไม่ใช้จริงและไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ โดยอาศัยหลักและวิธีการ 5R ดังนี้
⦁ Reduce การลดปริมาณขยะ ซึ่งทุกคนสามารถลดการใช้ขยะลงได้ เช่น การใช้ถุงผ้า
⦁ Reuse การนำกลับมาใช้ซ้ำ เช่น กระดาษหน้า2, กล่องกระดาษ, ขวดแก้ว
⦁ Recycle การนำไปแปรสภาพให้สามารถนำกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ขวดแก้ว, พลาสติก, โลหะ, เศษอาหารทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
⦁ Repair การซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานต่อได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด
⦁ Reject หลีกเลี่ยงการใช้สินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษหรือย่อยสลายยาก
สิ่งสำคัญที่สุดในการกำจัดและบำบัดขยะ คือ การคัดแยกเพื่อให้เหลือขยะน้อยที่สุดซึ่งสามารถทำได้ด้วยการทิ้งขยะลงถังขยะให้ถูกประเภทขยะ อีกทั้งขยะบางชนิดอาจมีประโยชน์กับคนอีกกลุ่ม หรือสามารถสร้างรายได้กลับคืนมาให้แก่ครัวเรือนได้ เช่น คอมพิวเตอร์ จอคอมพิวเตอร์ที่เสียสามารถส่งบริจาคต่อได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา, วัดสวนแก้ว, สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล เป็นต้น หากเป็นขวดแก้ว ขวดพลาสติก กล่องกระดาษสามารถสะสมและนำไปจำหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่าได้
การคัดแยกขยะตามสีของ ถังขยะ ตามมาตรฐาน
แม้อาจจะดูยุ่งยากและเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่ครัวเรือน, ห้างร้าน เอกชนและหน่วยงานภาครัฐ แต่เชื่อได้เลยว่าการคัดแยกขยะตามประเภทจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการขยะได้ง่ายและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถูกหลักการ 5 ส ได้อย่างดีเยี่ยม
มาตรฐาน ถังขยะ และภาชนะรองรับ
ภาชนะที่จะนำมารองรับขยะต่าง ๆ นั้น จะต้องมีฝาปิดมิดชิด ไม่หก ไม่รั่วซึม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและแพร่กระจายสู่ดินและน้ำได้ สามารถป้องกันหนู แมลงวัน แมว สุนัขและสัตว์อื่น ๆ ที่จะมาคุ้ยขยะ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งถังขยะพลาสติกและถุงพลาสติก แต่ต้องมีสีของวัสดุตามจำแนกสีของถังขยะตามประเภทขยะดังนี้
⦁ ถังขยะสีน้ำเงิน รองรับขยะทั่วไป ที่ไม่สามารถรีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น บรรจุภัณฑ์, ถุงพลาสติกใส่อาหาร, บรรจุภัณฑ์เปื้อนอาหาร
⦁ ถังขยะสีเขียว รองรับขยะที่ย่อยสลายเองได้ เช่น เศษอาหาร เศษผัก เปลือกผลไม้
⦁ ถังขยะสีเหลือง รองรับขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น ขวดแก้ว กล่องกระดาษ กระป๋องเครื่องดื่ม พลาสติกต่าง ๆ
⦁ ถังขยะสีส้มหรือสีแดง รองรับขยะอันตราย เช่น กระป๋องสี หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย ผ้าเลอะน้ำมัน แบตเตอรี่ วัสดุดูดซับ
พร้อมกับทำ ป้ายเตือน หรือป้ายห้ามสูบบุหรี่หรือกระทำการอื่นใดให้เกิดประกายไฟ เพราะมิเช่นนั้นอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ บริเวณที่จัดเก็บขยะหรือที่รวบรวมขยะควรมี ถังดับเพลิง หรือติดตั้งระบบ ถังดับเพลิง อัตโนมัติ เพื่อป้องการเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น ระบบตรวจจับควัน, ระบบตรวจจับความร้อน, ระบบสัญญาณเตือนและระบบน้ำสปริงเกอร์พร้อมแท็งน้ำสำรองในกรณีเกิดเหตุไฟไหม้
สถานที่จัดเก็บขยะ
โดยปกติหากเป็นถังขยะตามบ้านเรือนสามารถที่จะใช้ถังขยะที่ระบุสี, สัญลักษณ์ ที่ถังขยะได้ว่าถังใดเป็นขยะทั่วไป, ขยะอันตรายและขยะเศษอาหาร แต่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงพยาบาลจะต้องมีห้องสำหรับเก็บขยะโดยเฉพาะ โดยห้องเก็บขยะอันตรายจะต้องเป็นกำแพงทนไฟ มีป้ายเตือนและระบบดับเพลิงอัตโนมัติ พร้อมกับใบควบคุมปริมาณขยะโดยจะต้องระบุจำนวนในการรับเข้าและขนออกเพื่อเป็นหลักฐานส่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในส่วนของห้องเก็บขยะรีไซเคิลอาจเลือกใช้ รั้วตาข่าย ในการติดตั้งได้และในส่วนของขยะทั่วไปและขยะเศษอาหารก็ควรทำห้องจัดเก็บแยกเป็นสัดส่วนด้วยเช่นกัน พร้อมล้อมรั้วตาข่ายเพื่อเป็น วิธีลดอุบัติเหตุ จากการขนย้ายและขนส่งได้ถูกประเภทของขยะ