ป้ายกล้องวงจรปิดตามกฎหมาย

การติดตั้งป้ายกล้องวงจรปิดตามกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและประสิทธิภาพของระบบกล้องวงจรปิด

เราติดกล้องวงจรปิด CCTV เพื่อ?

          แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักของการติดตั้งยังคงเป็นการ “รักษาความปลอดภัย” แบบเดิมมักติดเฉพาะมุมรั้วหรือทางเข้าบ้าน แต่ด้วยความซับซ้อนของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล กล้องวงจรปิดหลายรุ่นนอกจากดูสดผ่านมือถือแล้วยังพูดส่งเสียงโต้ตอบแบบเรียลไทม์ได้ จึงปรากฎวัตถุประสงค์อันหลากหลาย บางเหตุผลอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน เช่น ติดตั้งเพื่อดูเด็ก ๆ ที่อยู่ในบ้าน ดูผู้สูงอายุ ฯลฯ ติดตั้งไว้ดูน้องหมาน้องแมว บางคนติดตั้งตัวเล็กไว้ส่องข้างกรงน้องแฮมสเตอร์ การติดตั้งกล้อง CCTV แต่ปัจจุบันอาจติดตั้งในตัวบ้าน ห้องต่าง ๆ  บางคนติดไว้ทุกห้อง บางห้องติดไว้หลายตัว การทำแบบนี้ก็ดำเนินเรื่อยมาอย่างสงบสุข และเป็นชีวิตประจำวัน

เมื่อกฎหมาย PDPA ส่งผลกับชีวิตประจำวันของผู้คน

       จนกระทั่งหลังจากเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA ใช้บังคับ ปรากฎกระแสและข่าวหรือ “โนว์ฮาว” ที่แชร์กันต่อในทำนองว่า

“กฎหมาย CCTV ใช้บังคับแล้ว ห้ามถ่ายติดเพื่อนบ้าน”

“ติด CCTV ในบ้านต้องขออนุญาตคนที่จะถูกถ่ายก่อน”

“ติด  CCTV ต้องมีป้ายแจ้งเตือน”

“ติด CCTV ได้ แต่ห้ามหันกล้องไปทางเพื่อนบ้าน หรือห้ามหันออกนอกบริเวณบ้าน”  ฯลฯ

           บางคนในหมู่บ้านเห็นเพื่อนบ้านเอาป้ายที่มีรูป CCTV และเขียนทำนอง “พื้นที่นี้ติดตั้ง CCTV เพื่อรักษาความปลอดภัย” ก็ไปหาซื้อหรือก็อปไฟล์จากเน็ตมาแปะเอาบ้าง ด้วยความหวาดกลัวว่าจะผิดกฎหมาย PDPA  กฎหมายดังกล่าวถูกปั่นเป็นกระแสให้ “โอเวอร์” จากหลักการที่แท้จริงด้วยเหตุผลทางธุรกิจบางอย่างของบางคน  แต่เราลองมาดู PDPA ไม่ใช่กฎหมายถ่ายรูปหรือกฎหมาย CCTV  แต่เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับ “ผู้ควบคุมข้อมูล” ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นผู้ประกอบการต่าง ๆ  โดยกำหนดหน้าที่หลายอย่างเป็นกระบวนการไม่ใช่แค่หน้าที่ให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

            แน่นอนว่าการใช้กล้อง CCTV  เมื่อบันทึกติดภาพ “มนุษย์” ที่ระบุตัวหรือเห็นหน้าได้  จัดเป็นการ “เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล”   และโดยหลักการของ PDPA ต้องขอความยินยอมก่อน  แต่มีข้อยกเว้นหลายอย่าง  โดยเฉพาะ “ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูล”  ตามมาตรา 24 (5) ซึ่งก็รวมถึงการ “รักษาความปลอดภัย” (Security)  ในต่างประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็มีหลักการทำนองนี้

แล้วจำเป็นหรือไม่ต้องติดป้ายเตือนไว้คู่กับกล้อง

          การติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อรักษาความปลอดภัยจัดเป็นประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องขอความยินยอม แต่อย่างที่ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า  PDPA กำหนดหน้าที่หลายอย่าง แม้จะได้รับยกเว้นไม่ต้องขอความยินยอม แต่ก็ยังต้องทำหน้าที่อื่น ๆ เช่น  “การอธิบายรายละเอียดการใช้ข้อมูล” (Privacy notice)  อย่างที่เราเห็นในเว็บไซต์หรือแอพที่จะใช้บริการแล้วมีเอกสารมาให้เราต้องอ่านก่อนว่า “จะใช้ข้อมูลของเราอย่างไร”  ดังนั้น เราจึงเห็น ห้างสรรพสินค้า  อาคารสำนักงาน  ธนาคาร ฯลฯ  ติดตั้ง CCTV  เมื่อเราเดินเข้าไปและไม่มีการมา “ขออนุญาต” เราเลย แต่มีเพียง “ป้ายติดตั้งแจ้งว่า มีการใช้กล้อง CCTV” นั่นเท่ากับเขากำลังบอกเราว่า

“เราจะถ่าย CCTV ที่ติดภาพคุณ และเราทำได้ตามข้อยกเว้นของ PDPA ไม่ต้องขอความยินยอมจากคุณ เนื่องจากเป็นการกระทำเพื่อรักษาความปลอดภัยในสถานที่ของเรา  คุณก็แค่อ่านและรับทราบไว้ซะ”

         กลับมาที่บ้านพักอาศัยของเรา และอ่านข้อมูลตามกระแสที่แชร์ให้น่ากลัวว่าเราจะผิด PDPA  จึงต้องขออนุญาตคนก่อนถ่าย อาจจะต้องซื้อกล้องวงจรปิดแบบพูดโต้ตอบได้และดูจอมือถือตลอด ถ้าใครเข้ามาในกล้องก็ตะโกนขออนุญาตก่อน ฯลฯ หรือไม่ อย่างนั้นก็ต้องติดตั้งป้ายแบบห้างหรือธนาคารเพื่ออ้างข้อยกเว้นนั้น  หากเราอ่านกฎหมาย PDPA และทำความเข้าใจอย่างเป็นระบบทั้งหมดจะพบว่า กฎหมายนี้ไมได้ใช้กับเราในฐานะประชาชนที่ดำรงชีวิตในบ้านพักอาศัยในชุมชนในหมู่บ้าน

         เพราะมาตรา 4 (1) ยกเว้นว่า กฎหมายนี้ไม่ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยขน์ส่วนตนหรือในครอบครัว นั่นหมายความว่า เราจะได้รับยกเว้นจากหน้าที่อื่น ๆ ของกฎหมายนี้ไปด้วย รวมถึงหน้าที่ “การอธิบายรายละเอียด (Privacy notice) หน้าที่การทำบันทึกรายการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ฯลฯ

           แค่ถามตัวเองว่าเราติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อวัตถุประสงค์อะไร หากเป็นการทำไปเพื่อป้องกันโจรกรรม เพื่อดูเด็กดูผู้สูงอายุ ดูน้องหมาน้องแมว คุยกับอีกัวน่าในกรงไม่ให้เหงาฯลฯ เหล่านี้เป็นวัตถุประสงค์ส่วนตัวหรือในครอบครัวทั้งสิ้น  ส่งผลให้การติดกล้องของเรา แม้ติดข้อมูลส่วนบุคคลก็เข้าข้อยกเว้นมาตรา 4 (1)  ผลคือไม่ต้องอยู่ภายใต้หลักการใด ๆ ของกฎหมายนี้เลย ย้ำ! หากเข้ามาตรานี้ ก็ไม่ต้องไปดูว่ามีหน้าที่อื่นตามกฎหมายนี้อีกหรือไม่ แม้ว่าจะไม่มีป้ายติด แม้ว่าจะหันมุมออกไปเห็นถนนคนเดิน แม้จะหันไปเห็นสนามเพื่อนบ้าน เพราะมาตรา 4 (1) เป็นขอบเขตที่สำคัญของ PDPA และต้องอ่านตัวบทเท่าที่กฎหมายเขียน เราไม่สามารถสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมจากข้อความที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

มาตรา 4 (1) ไม่ได้เขียนไว้ว่า การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว “ต้องไม่ติดภาพคนอื่น” “ต้องบันทึกภาพอยู่ในพื้นที่ตัวเองเท่านั้น”

         ถ้าเข้าใจข้อกฎหมายอย่างชัดเจนตรงนี้เราจะตอบตัวเองได้เลยว่า เราต้องตั้งป้ายเตือน CCTV เหมือนเพื่อนบ้านบางคนหรือไม่  เราจะตอบได้ว่า เราต้องไปปรับทิศทางกล้องให้หันเข้าบ้านตัวเองเท่านั้นหรือไม่  เราต้องกังวลว่าเพื่อนบ้านจะมาฟ้องเราที่กล้องหันไปหน้าบ้านหรือสวนบ้านเขาได้หรือไม่  เพื่อนบ้านจะโผล่มาเคาะประตูขอใช้สิทธิดูภาพหรือขอให้ลบตาม PDPA ได้หรือไม่

คำตอบเรียบง่าย เราในฐานะผู้อยู่อาศัยในบ้าน ติดตั้งกล้องเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวหรือในครอบครัว เราไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ของ PDPA เพื่อนบ้านจะมายกข้อหาต่าง ๆ ตามกฎหมายนี้กับเราไม่ได้

ข้อแตกต่างของการติดตั้งกล้องในห้างร้าน สถานที่สาธารณะกับที่พักอาศัยส่วนตัว

          การติดกล้องในสถานที่สาธารณะนั้น ไม่ว่า ห้างสรรพสินค้า ตึกสำนักงาน หรือธนาคาร ฯลฯ ย่อมแตกต่างกับที่พักอาศัยส่วนตัว เพราะเหล่านั้นเป็น “องค์กรธุรกิจ” แม้จะอ้างว่าติดเพื่อรักษาความปลอดภัยเป็นประโยชน์โดยชอบและเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมาย  แต่ก็ยกเว้นเฉพาะ “หน้าที่ขอความยินยอม”  ซึ่งยังคง “อยู่ภายใต้หลักการต่าง ๆ ของ PDPA” เช่น ต้องแจ้งเตือน ต้องบันทึกรายการให้ตรวจสอบ  อาจมีเจ้าของข้อมูลมาใช้สิทธิขอลบหรือขอตรวจดูข้อมูลที่บันทึกไว้ได้  ฯลฯ

         แต่ในกรณีที่พักอาศัยก็แตกต่างกับ นิติบุคคลหมู่บ้านหรือคอนโด หรือ บริษัท รปภ. ที่รับจ้างนิติบุคคลเข้ามาเป็นผู้ดูแลความปลอดภัย เพราะพวกเหล่านี้เป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่ไม่ได้อยู่ในฐานะประชาชนผู้อยู่อาศัยเพื่อประโยชน์ส่วนตัวในครอบครัว จัดเป็นผู้ควบคุมข้อมูลตาม PDPA  มีหน้าที่ต้องขอความยินยอมก่อนเก็บข้อมูลและหน้าที่อื่น ๆ ตามกฎหมายนี้ สำหรับ CCTV แม้จะติดตั้งเพื่อรักษาความปลอดภัยโดยเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องยินยอม  แต่ก็ต้องทำหน้าที่อื่นเช่น “การแจ้งเตือน”  ฯลฯ

ข้อพึงระวัง

          อย่างไรก็ตามเราก็ไม่สามารถจะสรุปว่า ติดกล้องวงจรปิด CCTV ในบ้านพักอาศัยไม่ผิดกฎหมายทุกกรณี เพราะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องดูข้อพิพาทและข้อเท็จจริงแต่ละกรณีด้วย  เช่น

– บ้านพักที่เป็นโฮมออฟฟิศ หรือเป็นบ้านแม่ค้าออนไลน์ที่จ้างคนมานั่งแพ็คของกันในบ้าน   ติดกล้องในสถานการณ์แบบนี้ อาจไม่เข้าข่ายการเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือในครอบครัว

– ถ้าเราเอาคลิปจากกล้องไปโพสต์ต่อ หากกล้องบันทึกเห็นใครซักคนในบ้านแก้ผ้าอยู่แล้วเอาไปโพสต์ต่อสาธารณะ อาจผิดฐานนำข้อมูลลามกเข้าสู่ระบบตาม พรบ. คอมฯ ก็ได้  และถ้าเราเอาคลิปจาก CCTV ที่ถ่ายปาร์ตี้กับเพื่อนหลายคนในบ้านแล้วไปประกอบการโพสต์เล่าเรื่อง ด่าทอพิพาทกับเพื่อนบางคนอาจเป็นการ “หมิ่นประมาท” ก็ได้

ที่มา:

  • สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ม เกษมบัณฑิต