ร้านไทยจราจร เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินเสียง ‘เสียงไซเรน’ เสียงสัญญาณที่เมื่อได้ยินแล้วทุกต้องเหลียวหลัง มองหาว่าดังมาจากทางไหน รถบนถนนทุกคนต้องรีบหลบเพื่อให้ทางแก่รถที่เปิดเสียงสัญญาณไซเรน เพราะเสียงไซเรน คือ เสียงที่บอกให้ทุกคนรู้ว่าตอนนี้กำลังมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น เช่น การเกิดอุบัติเหตุ ผู้ป่วยวิกฤต การเกิดอาชญากรรมขั้นรุนแรง หรือการเกิดเพลิงไหม้ เพราะฉะนั้นรถที่ได้รับอนุญาตให้สามารถใช้เสียงไซเรนได้จึงเป็น รถของทางราชการเสียส่วนใหญ่ เช่น รถที่ใช้ในราชการทหารและตำรวจ รถพยาบาล และรถดับเพลิง สำหรับรถอื่น ๆ ความจริงสามารถใช้เสียงสัญญาณไซเรนได้ แต่เราขอแนะนำให้ทำการขออนุญาตติดตั้งจากอธิบดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียก่อน มิเช่นนั้นคุณจะถูกจับเสียค่าปรับ ขอหาใช้เสียงสัญญาณโดยไม่ได้รับอนุญาตได้
สำหรับรถที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เสียงไซเรนที่หลายคนคุ้นหูคุ้นตากันเป็นอย่างดี คือ รถพยาบาล และรถตำรวจ เรียกว่าได้ยินกันแทบทุกวัน โดยเฉพาะ ‘รถพยาบาล’ ซึ่งถ้าไม่มีคนเจ็บหนักเราไม่มีทางได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนรถพยาบาลแน่นอน ข้อกำหนดในการเปิดสัญญาณไซเรนของรถพยาบาล สามารถเปิดใช้ได้ในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) ซึ่งต้องได้รับคำสั่งจากการโดยศูนย์สื่อสารสั่งการให้ออกเหตุเท่านั้น และสามารถเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินและเสียงไซเรนได้ตลอดการเดินทางเพื่อขอทางจากรถทุกประเภทและคนเดินเท้า ส่วนในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) ได้รับอนุญาตให้เปิดได้เฉพาะสัญญาณไฟฉุกเฉินแต่ไม่ต้องเปิดเสียงไซเรน และในผู้ป่วยภาวะปกติ (สีขาว) ไม่จำเป็นต้องสัญญาณไฟฉุกเฉินและเสียงไซเรน
การใช้สัญญาณไซเรนของรถพยาบาล ซึ่งจัดอยู่ในหมวดของ ‘รถฉุกเฉิน’ ทำให้การปฏิบัติงานของรถพยาบาลได้รับข้อยกเว้นในการปฏิบัติตามกฎจราจรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องหยุดรถหรือจอดรถในที่ห้ามจอด การขับเกินอัตราความเร็วที่กำหนด หรือ สามารถขับผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรที่ให้รถหยุดได้ เพราะฉะนั้นเสียงไซเรนจึงเสมือนสัญญาณขอทางและเตือนให้รถทั้งหมดในระยะที่ได้ยินเสียงไซเรนทราบว่ากำลังมีรถฉุกเฉินอยู่บนถนน ซึ่งตามกฎหมายมาตรา 76 หากคุณได้ยินหรือเห็นรถฉุกเฉินบนถนน ผู้เดินเท้าต้องเดินชิดขอบทาง และผู้ขับขี่ต้องหยุดรถหรือจอดรถชิดทางซ้าย แต่ห้ามหยุดหรือจอดทางแยก เพื่อเป็นการให้ทางแก่รถฉุกเฉิน ซึ่งร้านไทยจราจรขอให้คุณทำตามเพราะถ้าไม่หลบทางให้รถพยาบาลนอกจากจะถูกสังคมต่อว่าอย่างที่เห็นตามข่าวแล้ว ยังต้องไปเสียค่าปรับอีก 500 บาทด้วย เสียทั้งเงินและเวลา
สำหรับมาตรฐานเสียงไซเรนรถพยาบาลใช้เพื่อส่งสัญญาณให้พาหนะอื่นและคนเดินทางหลีกทางให้ มีข้อกำหนด ไว้ว่า เสียงไซเรนของรถพยาบาลเพื่อส่งสัญญาณขอทาง ต้องมีความดังไม่น้อยกว่า 120 เดซิเบล แต่การต้องติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่รบกวนพนักงานขับรถยนต์และผู้โดยสารภายในรถ โดยภายในห้องโดยสารห้ามมีเสียงดังเกิน 80 เดซิเบล โดยปัจจุบันรถพยาบาลสามารถติดตั้งเสียงไซเรนได้ทั้งสิ้น 5 แบบ มีลักษณะเป็นเสียงแบบหลายเสียง ดังสูงต่ำสลับกันไป ซึ่งสำหรับการใช้เสียงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ นอกจากนั้นอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ เสียงไซเรน อย่างเช่น ไมโครโฟน ซึ่งควรมีระบบตัดเสียงไซเรนอัตโนมัติที่ไมโครโฟน ใช้ในกรณีที่คนขับต้องการสื่อสารกับคนด้านนอกเพื่อขอทาง และต้องใช้เครื่องขยายเสียงอิเล็กทรอนิกส์ไซเรน ที่กำลังขยาย 100 วัตต์ ใช้กับแรงดันไฟที่ 12 V DC
ในส่วนของ ‘รถตำรวจ’ ซึ่งเป็นรถที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เสียงไซเรนเช่นเดียวกัน โดยสามารถเปิดได้เฉพาะในกรณีที่เห็นสมควรเท่านั้น เช่น ในกรณีที่ต้องใช้รถเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีเหตุด่วนเหตุร้ายฉุกเฉินเร่งด่วน อย่างการไปจับผู้ร้าย หรือไล่ล่าผู้ต้องหา นอกจากนั้นยังใช้เพื่อการนำหรือปิดท้ายขบวนของบุคคลสำคัญของประเทศ หรือ แขกสำคัญจากต่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องได้รับการอารักขาเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รับการอนุญาตให้เปิดไซเรนได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ใช้ทางสังเกตได้ง่ายและให้ทางแก่ขบวนเพื่อความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งหากเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยเร็วแต่ไม่เร่งด่วน อย่างเช่น การนำหรือปิดขบวนให้รถหรือคนเดินเท้าจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เสียงไซเรน แต่เปิดได้เฉพาะไฟสัญญาณเพื่อให้ผู้ใช้ถนนสังเกตเห็นได้ง่ายเท่านั้น
ซึ่งสัญญาณไซเรนรถตำรวจสามารถใช้ความดัง 120 เดซิเบล ที่ระยะ 3 เมตร โดยใช้เครื่องขยายเสียงที่มีกำลังขยายของเสียงที่ขนาด 100 วัตต์ และไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลท์ โดยติดตั้งไว้ที่ด้านหลังไฟฉุกเฉิน บนหลังคารถตามมาตรฐานของประเทศในทวีปยุโรป โดยไซเรนรถตำรวจที่สามารถใช้ได้แตกต่างกันไม่น้อยกว่า 5 เสียง โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมแล้วแต่กรณีและเหตุการณ์เช่นเดียวกับรถพยาบาล นอกจากนั้นตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด ภายในรถตำรวจต้องมีปุ่มปรับเลือกเสียงฉุกเฉินที่ตัวเครื่องแบบชั่วคราว ซึ่งคุณตำรวจสามารถพูดประกาศได้ทันทีที่ต้องการ ซึ่งเสียงจะแทรกเข้าไประหว่างเสียงไซเรนได้เลย
จะเห็นได้ว่าการใช้ไซเรนเพื่อขอทางสำหรับรถพยาบาลและรถตำรวจเอง ที่ถึงแม้จะเป็นรถของทางราชการ แต่ก็มีข้อกำหนดในการติดตั้งและการเปิดใช้งานมากมายหลายข้อ และหากไม่ใช้กรณีฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นเร่งด่วน เจ้าหน้าที่เองก็ไม่สามารถเปิดใช้งานไซเรนได้ตามใจชอบ เพราะฉะนั้นหากคราวหน้าได้ยินเสียงไซเรนสิ่งที่เราจะทำได้คือ หลบทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้รถฉุกเฉิน เพราะระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่สูญเสียไปบนท้องถนน อาจส่งผลต่อชีวิตของบุคคลที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือก็เป็นได้
Block "content-bottom" not found